hematopoietic stem cell transplantation for acute leukemia

Share

เมื่อพูดถึงมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันหลายคนอาจมองว่าไกลตัว ทั้งที่ความจริงไม่ว่าจะเพศใดวัยใดก็สามารถเผชิญกับโรคนี้ได้ เช่นเดียวกับคุณณรงค์ฤทธิ์ วิทยปรีชากุล ในวัย 56 ปีที่พบว่าตนเองป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันหรือลิวคีเมีย (Acute Leukemia) โดยเริ่มต้นมีไขกระดูกเสื่อม (Myelodysplastic Syndrome, MDS) ทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้างเกล็ดเลือดได้ตามปกติ ต่อมาโรคเปลี่ยนเป็นลิวคิเมียเฉียบพลัน โอกาสหายจากโรคมีเพียงน้อยนิด จนกระทั่งเขาได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก ทำให้โรคทุเลาลงและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง

วันที่ไม่คาดคิด

ผมตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี จนกระทั่งเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2560 ไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลใกล้บ้านพบว่าเกล็ดเลือดค่อนข้างต่ำ อย่างเกล็ดเลือดของคนปกติจะอยู่ที่ประมาณ 150,000 – 450,000 ต่อไมโครลิตร แต่ของผมอยู่ที่ 100,000 ต่อไมโครลิตร ตอนนั้นคุณหมอที่ให้การตรวจบอกว่าให้มาตรวจอีกครั้ง จนกระทั่งเดือนธันวาคมปีเดียวกัน ผมได้รับอุบัติเหตุลื่นล้มปากกระแทกกระถางต้นไม้เลือดออกเยอะ จึงไปหาหมอฟันที่โรงพยาบาลใกล้บ้านแล้วพบว่าเกล็ดเลือดอยู่ที่ 70,000 เกล็ดต่อไมโครลิตร ซึ่งลงมาเยอะมาก คุณหมอก็ให้ยามารับประทานแล้วนัดมาตรวจอีกครั้งเดือนมกราคม เกล็ดเลือดอยู่ที่ 50,000 เกล็ดต่อไมโครลิตร ซึ่งถือว่าไม่ปกติแล้ว

หลังจากนั้นผมจึงเข้ารับการเจาะไขกระดูกพบว่าไขกระดูกเสื่อม ช่วงนั้นกินยาตามที่หมอแนะนำแล้วก็มาตรวจเลือดสม่ำเสมอ ซึ่งเกล็ดเลือดจะอยู่ที่ 50,000 – 70,000 เกล็ดไมโครลิตร ผ่านไป 6 เดือนอาการก็ยังไม่ดีขึ้น คุณหมอบอกกับเราว่าต้องรักษาด้วยยาฉีด หากไม่รักษาจะอยู่ได้แค่ 6 – 18 เดือน ยอมรับว่าตอนนั้นใจเสียมาก แต่ความรู้สึกในใจบอกว่า เราไม่อยากตาย จึงค้นหาข้อมูลวิธีการรักษาต่าง ๆ ทุกรูปแบบแล้วก็ได้รู้ว่าการปลูกถ่ายไขกระดูกจะทำให้เรามีโอกาสหายจากโรค จากนั้นก็เริ่มหาข้อมูลว่าคุณหมอท่านใดที่เก่งและสามารถช่วยเราได้

ปลูกถ่ายไขกระดูกคือทางรอด 

ตอนนั้นหาข้อมูลอยู่นานจนกระทั่งพบชื่อของศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรพล อิสรไกรศีล ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์โลหิตวิทยา โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ซึ่งคุณหมอมีความชำนาญในการปลูกถ่ายไขกระดูก ผมก็รีบทำนัดเพื่อเข้ารับการรักษา วันที่ได้พบกับคุณหมอ คุณหมอบอกกับเราว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันที่มีผลมาจากไขกระดูกเสื่อม หลังจากนั้นอาจารย์ก็นัดทุก ๆ 3 เดือนเพื่อมาตรวจเกล็ดเลือด จนกระทั่งต้นปี 2561 เกล็ดเลือดลดลงเรื่อย ๆ เดือนกรกฎาคม 2561 เหลือ 20,000 เกล็ดไมโครลิตรและมีตัวอ่อนในกระแสเลือด อาจารย์จึงบอกกับเราว่าถึงเวลาแล้วต้องรีบรักษาให้เซลล์ลิวคิเมียน้อยลง แล้วทำการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด 

ซึ่งการปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นการแทนที่เซลล์ที่ผิดปกติในไขกระดูกด้วยเซลล์ต้นกำเนิดที่แข็งแรง โดยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจะได้มาจากพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรืออาสาสมัครผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ โดยจะทำการให้ผ่านสายสวนหลอดเลือดดำ หลังจากร่างกายผ่านการเตรียมความพร้อมด้วยยาเคมีบำบัดขนาดสูง ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับเซลล์ต้นกำเนิดเข้าไปจะเติบโต เพิ่มจำนวน พัฒนาเป็นเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ที่แข็งแรง

ความหวังที่มีชีวิต

ต้องบอกว่าไม่ง่ายเลยที่จะได้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด พี่ชายและน้องสาวอีกสองคนของผมมาตรวจเนื้อเยื่อหรือ HLA (Human Leukocyte Antigen) เป็นการตรวจสารจำเพาะบนผิวของเม็ดเลือดขาวแล้วพบว่าเนื้อเยื่อเข้ากันไม่ได้ ความหวังของผมเหลือน้อยลงไปทุกที แต่อาจารย์สุรพลบอกกับผมว่า ลูกของผมคือทางเลือกสุดท้าย ช่วงนั้นผมต้องได้รับเลือดตลอด เพราะช่วงที่เกล็ดเลือดต่ำ เลือดจะออกตามเหงือก ไรฟัน ปาก ต้องกินยาแก้ปวดก่อนกินข้าว เพราะกินค่อนข้างลำบาก ยิ่งกรุ๊ปเลือดของผมเป็นกรุ๊ป AB ทำให้หาเกล็ดเลือดยาก ในแต่ละวันที่รอเลือดถ้าไม่มี AB ก็ต้องเป็น A B O คือมีกรุ๊ปไหนเราต้องรับมาก่อน แต่โชคดีคือผมไม่ค่อยเพลีย ไม่เหนื่อยง่าย ยังใช้ชีวิตได้เกือบปกติ

ผมรู้ว่าเคสของผมค่อนข้างยากมาก แต่โชคดีที่ได้พบกับอาจารย์สุรพล ท่านพยายามหาวิธีรักษาเราอย่างเต็มที่ เพราะเมื่อผมไขกระดูกเสื่อม ร่างกายไม่ผลิตเลือด ต้องรักษาด้วยเคมีบำบัด เพื่อให้กระดูกฟื้นตัว ถ้าไขกระดูกไม่สร้าง เลือดไม่มี ผมอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งอาจารย์ถามตลอดว่าโอเคกับการรักษาแบบไหนและหาวิธีที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด จนกระทั่งเดือนธันวาคม ปี 2561 ลูกสาวคนโตมาเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเพื่อเตรียมให้เราปลูกถ่าย แต่ช่วงนั้นเรามีการติดเชื้อและคางบวมจึงต้องรักษาให้หายก่อน คือเราอยากหาย อยากให้ร่างกายพร้อม แต่ไม่พร้อมสักที ระหว่างนั้นอาจารย์ให้ยาเคมีบำบัดเพื่อป้องกันอาการกำเริบ โชคดีที่อาจารย์หายาตัวใหม่ชื่อ Venetoclax ที่เหลือจากการรักษาผู้ป่วยอีกราย ร่วมกับยา AraC ซึ่งพบว่าได้ผลดี มาถึงเดือนมีนาคมเราเตรียมพร้อมสำหรับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ปรากฏว่าเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของลูกสาวคนโตไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากเกล็ดเลือดที่ผมได้รับมาจากผู้ให้หลายคน ทำให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีขึ้นมา และสร้างแอนติบอดีกับเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของลูกสาวคนโตของผมด้วย

ชีวิตใหม่ที่รอคอย

ท่ามกลางความหวังที่น้อยลงไปทุกที อาจารย์สุรพลตัดสินใจนำเลือดของลูกสาวคนเล็กที่เจาะเลือดเก็บไว้เมื่อเดือนมกราคมไปตรวจแล้วพบว่า เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของลูกสาวคนเล็กไม่มีแอนติบอดีกับเรา ตอนนั้นเราดีใจมากที่จะได้ปลูกถ่ายไขกระดูกสักที ลูกสาวคนเล็กรีบมาหาเพื่อเก็บเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเพิ่ม ในที่สุดผมก็เข้ารับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด หลังจากปลูกถ่ายเสร็จเรียบร้อย ผมอยู่โรงพยาบาลอีกเกือบเดือนเพื่อรอให้ภูมิคุ้มกันร่างกายดีขึ้น ระหว่างนั้นผมรับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นคือปัสสาวะเป็นเลือดต้องใส่สายสวนปัสสาวะ กลับบ้านไปแล้วก็ยังปัสสาวะไม่ออก จนต้องส่องกล้องเข้าไปจี้ที่กระเพาะปัสสาวะให้เลือดหยุด หลังจากนั้นก็เข้ารับการตรวจกับคุณหมอทุก 2 สัปดาห์ ผลเลือดเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 2 – 3 เดือนแรกต้องกินยาแก้อักเสบร่วมด้วย เพราะมีเชื้อราในปากและหู มือเปื่อย เล็บหลุด มีปัญหาเรื่องตาและผิวหนังอีกเล็กน้อยจากภาวะ Graft Versus Host Disease ก็รักษาตามอาการไปเรื่อย ๆ  จนกระทั่งตอนนี้ร่างกายดีขึ้นมาก ทำงานได้ตามปกติ สามารถเข้ายิมและฟิตเนสได้แล้ว

เราต้องไม่ตาย

ตลอดเวลาในการรักษาต้องบอกเลยว่าครอบครัวคือกำลังใจที่ดีที่สุด ผมกับภรรยาจับมือกันทุกวัน กอดกันทุกวัน สู้ไปด้วยกัน ลูก ๆ ก็ให้กำลังใจเราตลอด เราคิดเสมอว่า เราต้องไม่ตาย ไม่เคยท้อเลย เพราะชีวิตมีค่า เราต้องหาย ที่สำคัญคืออาจารย์สุรพลเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชีวิตเราสว่าง ไม่เคยคิดว่าจะได้รักษากับอาจารย์ พอเจอกันเรารู้สึกอบอุ่น อาจารย์ดูแลดีมาก เมตตาเรา คอยให้กำลังใจตลอด บอกกับเราว่าสู้ไปด้วยกัน ช่วงที่ผมเข้ารับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเหมือนได้ชีวิตใหม่อีกครั้ง รวมถึงน้อง ๆ พยาบาลที่โรงพยาบาลวัฒโนสถดูแลดีมาก ทำให้ช่วงเวลาที่อยู่โรงพยาบาลเรามีความสุขทุกวันเหมือนอยู่บ้าน เพราะทุกคนทำด้วยใจ มีอะไรก็ช่วยเหลือตลอด การป่วยครั้งนี้เป็นการป่วยที่มีความสุขแล้วเราก็ได้ครอบครัวอีกครอบครัวหนึ่งกลับไป

จากใจหมอถึงคนไข้

คุณณรงค์ฤทธิ์เริ่มต้นจากการเป็นไขกระดูกเสื่อม ต่อมาโรคเปลี่ยนเป็นลิวคีเมียเฉียบพลัน แต่โชคดีที่ร่างกายตอบสนองกับยาและเมื่อโรคสงบได้ทำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ความยากอยู่ตรงที่เขาได้รับเกล็ดเลือดมาเยอะ ทำให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี แต่โชคดีที่ลูกสาวคนเล็กสามารถให้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดได้จึงทำให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่น ผมบอกเขาเสมอว่าโรคนี้เป็นโรคยากแต่มีทางรักษาได้”