9 เคล็ดลับสู่อาหารต้านมะเร็ง

9 เคล็ดลับสู่อาหารต้านมะเร็ง


โรคมะเร็งอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด ถ้าไม่อยากเพิ่มความเสี่ยงการเป็นมะเร็งต้องทานอาหารให้ถูกประเภท เลี่ยงอาหารให้ถูกชนิด ซึ่งทำได้ไม่ยาก

 

1) กินผักหลากสีทุกวัน

สีสันของผักนอกจากจะดูสวยงาม ผักแต่ละสี แต่ละชนิดยังมีประโยชน์ต่อร่างกายและให้คุณค่าที่แตกต่างกัน  การรับประทานผักให้หลากหลายหรือรับประทานให้ครบทั้ง 5 สี จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสุขภาพ

ตัวอย่างของผักและสารสีต่าง ๆ ได้แก่

  • สารสีแดง ได้แก่ มะเขือเทศ มีสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า ไลโคปีน (Lycopene) ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งปอด
  • สารสีเหลือง / ส้ม ได้แก่ ฟักทอง แครอท มีสารต้านอนุมูลอิสระแคโรทีนอยด์ (Beta – Carotene) อุดมไปด้วยวิตามินที่สามารถต้านการเกิดสารอนุมูลอิสระในร่างกาย
  • สารสีเขียว ได้แก่ คะน้า บรอกโคลี อุดมไปด้วยวิตามินซี รวมถึงผักบุ้ง กวางตุ้ง ตำลึงที่มีวิตามินเอและพิกเมนต์คลอโรฟิลล์
  • สารสีม่วง ได้แก่ กะหล่ำสีม่วง ชมพู่มะเหมี่ยว สีม่วงในดอกอัญชัน พืชผักสีม่วงเหล่านี้มีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งช่วยยับยั้งสารก่อมะเร็ง
  • สารสีขาว ได้แก่ มะเขือเปราะ ผักกาดขาว ดอกแค โดยเฉพาะยอดแค มีสารเบตาแคโรทีนสูง ซึ่งมีคุณสมบัติในการกำจัดสารอนุมูลอิสระ

 

2) ทานผลไม้เป็นประจำ

ผลไม้ประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลากหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รวมทั้งยังมีเส้นใยอาหารที่ช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างปกติ

ประโยชน์ของผลไม้

  • ส้ม มีวิตามินเอและซี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง
  • สับปะรด มีวิตามินซี เบตาแคโรทีน และแมงกานีส ที่ช่วยป้องกันอันตรายจากอนุมูลอิสระ และยังมีความสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • มะละกอ มีวิตามินเอ บี และซี ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานเป็นปกติ
  • มะม่วง มีวิตามินเอและซี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยในการป้องกันมะเร็ง อีกทั้งแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนได้ด้วย

 

3) เน้นอาหารธัญพืชและเส้นใย

ธัญพืชเต็มเมล็ด คือ ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อยที่สุด ทำให้มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น วิตามิน แร่ธาตุ ไฟโตนิวเตรียนท์ เส้นใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ

ตัวอย่างของธัญพืชเต็มเมล็ด ได้แก่ ข้าวกล้อง ข้าวสาลี ข้าวโพด ลูกเดือย เป็นต้น นอกจากนี้ใยอาหารในธัญพืชยังทำหน้าที่สำคัญในการพาสารต่าง ๆ ที่เป็นโทษต่อร่างกาย ซึ่งเกาะติดบริเวณลำไส้ให้ขับถ่ายออกไป จึงมีส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งในทางเดินอาหารและมะเร็งลำไส้ใหญ่

คุณค่าทางอาหารของธัญพืช

  • ข้าวกล้อง ให้พลังงานแก่ร่างกาย มีเส้นใยอาหาร ช่วยป้องกันโรคเหน็บชา ปากนกกระจอก ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง
  • ลูกเดือย  มีวิตามินบี 1 วิตามินเอ โพแทสเซียม และใยอาหาร ช่วยแก้เหน็บชา แก้ร้อนใน บำรุงไต ปอด กระเพาะอาหาร
  • ถั่ว ถั่วชนิดต่าง ๆ เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง มีสารอาหารโปรตีนและเส้นใยอาหาร ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้

 

4) เติมเครื่องเทศเสริมรสชาติอาหาร

เครื่องเทศ หมายถึง ส่วนต่าง ๆ ของพืชที่นำมาเป็นเครื่องปรุงรสอาหารหรือเพื่อให้อาหารมีกลิ่นหอม สารประกอบอินทรีย์ที่เป็นกลิ่นหอมของเครื่องเทศมาจากส่วนที่เป็นน้ำมันและน้ำมันหอมระเหย ส่วนรสชาติที่เผ็ดร้อนมาจากส่วนที่เป็นยาง

เครื่องเทศประกอบด้วยสารหลายชนิด เช่น แป้ง น้ำตาล แร่ธาตุ วิตามิน และสารประกอบอื่น ๆ ซึ่งมีสรรพคุณลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง รวมถึงกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้

คุณประโยชน์จากเครื่องเทศ

  • พริก มีสาร Capsaicin ช่วยเพิ่มกระบวนการเผาผลาญในร่างกายและลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง
  • ขมิ้น มีสาร Curcuminoids ช่วยลดคอเลสเตอรอล ทำให้ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • กระเทียม มีสาร Dially Sulphide  ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง
  • ขิง มีสาร [6]-Gingerol ช่วยลดการดูดซึม LDL Cholesterol และช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่

 

5) เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ

เครื่องดื่มจากธรรมชาติมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยแก้กระหาย ทำให้ร่างกายสดชื่น เครื่องดื่มนี้สามารถเตรียมจากส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ใบ ผล เมล็ด ราก เป็นต้น

  • ชาเขียว มีสาร Epigallocatechin Gallate [EGCG] ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเซลล์มะเร็ง การดื่มชาเขียวให้ได้ประโยชน์เต็มที่ควรดื่มทันทีหลังชงชาเสร็จ เนื่องจากหากทิ้งไว้ชาเขียวจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ทำให้เสียคุณค่าไป นอกจากชาเขียวแล้วยังมีน้ำผักและผลไม้ รวมถึงสมุนไพรอีกหลายชนิดที่นิยมนำมาทำเป็นเครื่องดื่มกันอย่างแพร่หลาย เช่น น้ำแครอท น้ำดอกอัญชัน น้ำขิง น้ำส้ม น้ำเสาวรส เป็นต้น

 

6) ปรุงอาหารให้ถูกวิธี

วิธีการปรุงอาหารที่ถูกต้องมีความสำคัญ ได้แก่

  • ไม่ปิ้งย่างอาหารประเภทเนื้อสัตว์จนไหม้เกรียม การปิ้งย่าง รมควัน เนื้อสัตว์จนไหม้เกรียมจะทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง การนำอาหารไปทำให้สุกโดยไมโครเวฟก่อนนำไปปิ้งย่าง และการนำส่วนที่ไหม้เกรียมทิ้งก่อนการรับประทานจะช่วยลดสารพิษดังกล่าวได้
  • ไม่รับประทานอาหารแบบสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืดที่มีเกล็ด การรับประทานอาหารแบบสุก ๆ ดิบ ๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและเกิดอาการอักเสบเรื้อรังส่งผลให้เป็นมะเร็งได้ ดังนั้นจึงควรปรุงอาหารเหล่านี้ให้สุกก่อนการรับประทานเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค
  • ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง น้ำมันที่ผ่านการทอดซ้ำนานเกินไปจะมีคุณค่าทางโภชนาการลดลงและทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค จึงควรหลีกเลี่ยงไม่รับประทานอาหารทอดจากร้านค้าที่ใช้น้ำมันมีกลิ่นเหม็นหืน สีดำคล้ำ ฟองมาก

 

7) หลีกหนีอาหารไขมัน

ไขมันในอาหารพบได้ทั้งในพืชและในสัตว์ โดยมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือ กรดไขมัน ซึ่งสามารถแบ่งประเภทของกรดไขมัน ได้ดังนี้

  • กรดไขมันอิ่มตัว พบมากในอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์และน้ำมันที่ได้จากพืชบางชนิด เช่น เนย ไขมันสัตว์ กะทิ น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม หากร่างกายได้รับกรดไขมันอิ่มตัวในปริมาณมากเกินจำเป็น จะทำให้เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ
  • กรดไขมันไม่อิ่มตัว พบในน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันดอกทานตะวัน และปลา เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาจะละเม็ด เป็นต้น การบริโภคกรดไขมันชนิดนี้จะช่วยลดระดับ LDL Cholesterol หรือ คอเลสเตอรอลตัวร้ายในเลือด ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

 

8) ลดบริโภคเนื้อแดง

เนื้อสัตว์สีแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะ เป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง การบริโภคเนื้อสัตว์สีแดงเป็นประจำอาจทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้และทวารหนัก มะเร็งเต้านม และโรคอ้วน จึงควรจำกัดการรับประทานเนื้อดังกล่าวให้เหลือเพียงสัปดาห์ละ 500 กรัม เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง

การรับประทานปลาเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เนื่องจากปลาเป็นอาหารที่มีปริมาณโปรตีนสูงและยังเป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย มีปริมาณไขมันน้อย นอกจากนี้ในปลาทะเลน้ำลึกยังพบว่า มีกรดไขมันที่เรียกว่า โอเมก้า 3 ซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัวที่จำเป็นต่อร่างกาย ช่วยการทำงานของสมอง ตับ และระบบประสาทเกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนรู้อีกด้วย

 

9) เกลือแกงและอาหารหมักดองต้องน้อย

เกลือแกง เกลือสมุทร เกลือสินเธาว์เป็นของคู่ครัวเรือน ซึ่งใช้ปรุงอาหารเพื่อให้มีรสเค็ม แต่สิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ ร่างกายควรได้รับโซเดียมไม่เกินวันละ 6 กรัมต่อวัน

โซเดียม มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการต่าง ๆ ในร่างกาย แต่หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไปก็จะเป็นโทษต่อร่างกายได้เช่นกัน พบมากในเนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผักดอง และผลไม้ดอง เป็นต้น ดังนั้นจึงควรลดการรับประทานอาหารประเภทหมักดองหรืออาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป โดยเฉพาะที่มีการถนอมอาหารหรือปรุงสีด้วยดินประสิวเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง