มะเร็งเต้านม ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งมีโอกาสรักษาหาย

มะเร็งเต้านม ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งมีโอกาสรักษาหาย


หนึ่งในโรคร้ายที่ผู้หญิงทั่วโลกต่างหวาดกลัวคือ มะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง และมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอด แต่ความน่ากลัวของมะเร็งเต้านมจะลดลงตามความเร็วในการค้นพบ ดังนั้นการใส่ใจตรวจหามะเร็งเต้านมอย่างจริงจังเป็นเรื่องสำคัญ เพราะยิ่งพบเร็วเท่าไร ยิ่งลดความรุนแรงของโรคและอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตลงได้มากเท่านั้น


มะเร็งเต้านมเกิดจากอะไร

มะเร็งเต้านมเป็นโรคร้ายที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่มีปัจจัยหนุนคือฮอร์โมนเอสโตรเจนที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เนื้อเยื่อเต้านมจนเจริญเติบโตผิดปกติ และร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตที่ผิดปกตินั้นได้ ทำให้เซลล์เหล่านั้นกลายเป็นเซลล์มะเร็งและโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจแพร่กระจายออกไปยังอวัยวะอื่น ๆ


ชนิดของมะเร็งเต้านม

ความจริงแล้วมะเร็งเต้านมมีหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ ชนิดที่เกิดจากท่อน้ำนม เมื่อเซลล์มะเร็งแบ่งตัวจนทะลุเนื้อเยื่อของท่อน้ำนมเข้าไปถึงท่อน้ำเหลืองหรือเส้นเลือดก็จะแพร่กระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กระดูก ตับ ปอด หรือสมอง


อายุเท่าไรเสี่ยงมะเร็งเต้านม

จากสถิติพบว่า อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่พบมากที่สุดคือ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งจริง ๆ แล้ว เซลล์มะเร็งอาจจะก่อตัวก่อนหน้านั้น แต่เพิ่งมาตรวจพบในช่วงวัยดังกล่าว เพราะมะเร็งเต้านมค่อนข้างโตช้า กว่าจะโตจากขนาด 1 เซนติเมตรไปสู่ 2 เซนติเมตรต้องใช้เวลาประมาณ 90 – 180 วัน ดังนั้นกว่าจะเปลี่ยนแปลงจากเซลล์เดียวจนมีขนาด 1 เซนติเมตรได้จึงต้องใช้เวลาเป็นปี แสดงว่าก่อนจะตรวจพบด้วยตัวเอง เซลล์มะเร็งอาจจะเริ่มก่อตัวแล้วก็เป็นได้


กลุ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านมคือใคร

กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมคือ บุคคลที่มีญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งเต้านมเกิน 2 คนขึ้นไป เช่น แม่ พี่สาว หรือน้องสาว คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงกว่าคนอื่นถึง 10 เท่า และมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเร็วขึ้น ดังนั้นจึงต้องตรวจหาความผิดปกติด้วยตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมถึงตรวจด้วยเครื่องดิจิทัลแมมโมแกรม (Digital Mammogram) และอัลตรา
ซาวนด์ (Ultrasound)


อาการมะเร็งเต้านมเป็นอย่างไร

จุดเด่นของมะเร็งเต้านมคือ ไม่มีอาการให้ทรมาน ไม่เจ็บ ไม่ปวด มีเพียงก้อนเนื้อให้สัมผัสได้ แต่ไม่รู้สึก หลายคนละเลยจนเข้าสู่ระยะลุกลาม ปล่อยทิ้งไว้จนเกิดอาการที่ตามมา เช่น เต้านมบวมผิดปกติ แตก เน่า เป็นแผลแล้วค่อยไปพบแพทย์ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้แล้ว


ระยะของมะเร็งเต้านมเป็นอย่างไร

ระยะของมะเร็งเต้านมแบ่งออกเป็น

  • ระยะ 0 ระยะเริ่มต้นของเซลล์มะเร็ง ยังไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อของเต้านม เซลล์มะเร็งระยะ 0 รักษาหายได้
  • ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตรและยังไม่ลุกลามถึงต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดระหว่าง 2 – 5 เซนติเมตรและเริ่มลุกลามไปสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น
  • ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร ลุกลามเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว แต่ก็ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น
  • ระยะที่ 4 มะเร็งได้แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นเรียบร้อยแล้ว

หากตรวจพบตั้งแต่ระยะที่ 0 ซึ่งยังไม่มีก้อนมะเร็งจะสามารถรักษาให้หายได้ 100% แต่หากพบก้อนมะเร็งที่ขนาดไม่ถึง 1 เซนติเมตร เปอร์เซ็นต์การรักษาหายจะลดลงเหลือ 98% และถ้าเข้าสู่ระยะที่ 1 ที่ก้อนมะเร็งมีขนาด 1 – 2 เซนติเมตรแล้ว โอกาสหายจะเหลือเพียง 80% เท่านั้น เพราะยิ่งก้อนมะเร็งใหญ่ขึ้น โอกาสที่เซลล์มะเร็งจะหลุดไปยังอวัยวะอื่นยิ่งมากขึ้น ดังนั้นยิ่งตรวจพบเร็ว ยิ่งมีโอกาสหายได้มากกว่า


ตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมอย่างไร

หากอยากพบมะเร็งเต้านมได้เร็ว วิธีที่จะช่วยได้คือการตรวจด้วยเครื่อง Digital Mammogram ซึ่งสามารถหาเซลล์ที่ผิดปกติได้ตั้งแต่ขนาดเล็กระดับมิลลิเมตร เมื่อพบบริเวณก้อนเนื้อต้องสงสัยแล้วตรวจเพิ่มเติมด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ร่วมกับการตรวจชิ้นเนื้อก็จะวินิจฉัยได้ว่าก้อนเนื้อนั้นเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่


Digital Mammogram คืออะไร

Digital Mammogram คือ เทคโนโลยีการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษ คล้ายกับเครื่องเอกซเรย์เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงในการหาความผิดปกติของเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ใช้เวลาตรวจประมาณ 5 – 10 นาที โดยเครื่องจะกดเต้านมไว้ประมาณ 5 วินาที ให้เนื้อภายในเต้านมกระจายออก เนื่องจากภาพที่ได้จากการตรวจมีความละเอียดสูง ทำให้การวินิจฉัยถูกต้อง อาจจะทำให้เจ็บบ้างขึ้นอยู่กับขนาดของเต้านมแต่ละคน และเนื่องจากปริมาณรังสีที่ใช้น้อยมาก ประกอบกับการตรวจเพียง 1 – 2 ปีต่อครั้ง จึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ ต่อร่างกาย


ตรวจทางพันธุกรรมรู้ความเสี่ยงมะเร็งเต้านมจริงไหม

ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้า สามารถตรวจหาได้ว่าใครเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ด้วยวิธีการตรวจทางพันธุกรรม (Genetic Testing) ซึ่งมักทำในกรณีที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีความผิดปกติในครอบครัว ถ้าพบยีนผิดปกติ วินิจฉัยได้เลยว่าโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมีสูงถึง 80% และการผ่าตัดเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมในกรณีนี้สามารถที่จะลดไม่ให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ประมาณ 90%


รักษามะเร็งเต้านมแบบไหนดี

สำหรับผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะ 0 การรักษาด้วยการผ่าตัดมีโอกาสหายได้เกือบ 100% ในผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะที่ 1 และก้อนมีขนาดน้อยกว่า 1 เซนติเมตร การผ่าตัดเพียงอย่างเดียวนั้นสามารถที่จะรักษาให้หายได้ประมาณ 90% 

ซึ่งการตรวจพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกสามารถเลือกได้ว่าจะผ่าตัดเฉพาะจุดที่เป็นมะเร็ง (ผ่าตัดแบบสงวนเต้าหรือตัดเฉพาะบางส่วน) หรือจะเลือกการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด ถ้าเลือกการผ่าตัดแบบสงวนเต้าต้องทำควบคู่กับการฉายรังสีรักษาเต้านมที่เหลือ แต่ถ้าเลือกผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดไม่ต้องรับการฉายรังสีรักษาหลังรับการผ่าตัด ซึ่งทั้งสองวิธีให้ผลการรักษาที่เหมือนกันคือ ผู้ป่วยมีโอกาสจะหายจากมะเร็งได้เกือบ 100% โดยไม่ต้องให้เคมีบำบัด

แต่หากพบมะเร็งเต้านมในระยะที่ใหญ่ขึ้นคือตั้งแต่ระยะที่ 1 ตอนปลาย เป็นต้น ต้องผ่าตัดด้วยการรักษาเต้านมออกทั้งหมด ทั้งยังต้องรักษาเสริมด้วยยาเคมีบำบัดและฮอร์โมน เพื่อลดโอกาสในการกลับมาเป็นซ้ำ ทั้งนี้เราจะทำให้เต้านมกลับสู่รูปร่างเดิมหรือใกล้เคียงด้วยการเสริมซิลิโคนหรือใช้กล้ามเนื้อส่วนอื่นมาสร้างเป็นเต้านมใหม่ ให้คนไข้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นใจ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และปราศจากปมด้อยเกี่ยวกับหน้าอก


ปัจจัยที่ช่วยเพิ่มโอกาสหายในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

ปัจจัยที่ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีโอกาสรักษาหาย มีอยู่ 2 ปัจจัยคือ ค้นพบให้เร็วและรักษาให้มีคุณภาพ ด้วยความที่มะเร็งเต้านมเป็นเซลล์มะเร็งที่เกิดกับอวัยวะภายนอก สามารถคลำหาได้ด้วยมือ ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมเกินกว่าร้อยละ 85 จึงมักจะมาพบแพทย์หลังจากคลำพบก้อนที่เต้านม แต่นั่นไม่ใช่อาการเริ่มต้น เพราะกว่าจะคลำเจอต้องเป็นก้อนมะเร็งที่ใหญ่ไม่น้อยกว่า 1 เซนติเมตรไปแล้ว


ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมสำคัญอย่างไร

ถึงแม้ว่ามะเร็งเต้านมจะยังป้องกันไม่ได้ แต่สามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นนอกจากตรวจด้วยวิธีคลำด้วยตนเองแล้วควรให้แพทย์ตรวจทุก 3 – 5 ปี สำหรับผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ทุกปี หากคนในครอบครัวเป็นมะเร็งอาจต้องตรวจเร็วขึ้นตั้งแต่อายุ 35 ปี เพราะหากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะทำให้ได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที และอาจจะไม่ต้องสูญเสียเต้านมไป


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการรักษามะเร็งเต้านม

ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ พร้อมให้บริการในรูปแบบ One Stop Service โดยทีมแพทย์และบุคลากรผู้ชำนาญการที่พร้อมให้คำแนะนำ คำปรึกษา ตรวจหามะเร็งตั้งแต่ระยะที่ยังไม่แสดงอาการ เพื่อลดการเกิดโรค เพิ่มโอกาสหาย และไม่กลับมาเป็นซ้ำในอนาคต

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง