มะเร็งเต้านมกับการฉายรังสี

มะเร็งเต้านมกับการฉายรังสี


หนึ่งในคำถามที่หลายคนสงสัยคือ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมต้องได้รับการฉายรังสีทุกคนหรือไม่ ซึ่งการฉายรังสีเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคมะเร็งเต้านมที่สำคัญและสามารถรักษาได้ทุกระยะของมะเร็งเต้านม จึงควรทำความเข้าใจเพื่อให้มั่นใจในการรักษาด้วยการฉายรังสี

 

การฉายรังสีกับระยะของมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมสามารถรักษาได้ด้วยการฉายรังสีในทุกระยะ ได้แก่

ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ผ่าตัดแบบสงวนเต้านม (Breast Conserving Surgery) 

ใช้การฉายรังสีร่วมกับการผ่าตัดแบบสงวนเต้านม สามารถลดการกลับเป็นซ้ำได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว และพบว่าอัตราการรอดชีวิตของการฉายรังสีร่วมกับการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมไม่แตกต่างจากการผ่าตัดเต้านมทั้งเต้า (Modified Radical Mastectomy) ดังนั้นในผู้ป่วยที่ผ่าตัดแบบสงวนเต้านมแพทย์จึงแนะนำให้ฉายรังสีเกือบทุกคน 

มีเพียงบางกรณีที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรับการฉายรังสี ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 70 ปี, ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กไม่เกิน 2 เซนติเมตร (T1) ร่วมกับยังไม่มีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง (N0) และผู้ป่วยต้องสามารถรับการรักษาด้วยยาต้านฮอร์โมนอย่างน้อย 5 ปี ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถไม่รับการฉายรังสีได้ เนื่องจากเป็นโรคมะเร็งระยะต้นและการพยากรณ์ของโรคดี อย่างไรก็ตามผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการอีกครั้ง

ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ผ่าตัดแบบตัดเต้านมทั้งเต้า (Modified Radical Mastectomy)

ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่มและต้องผ่าตัดเต้านมทั้งเต้า ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องได้รับการฉายรังสีเพิ่มเติม แต่ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร หรือมีการกระจายของรอยโรคไปต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรือขอบเขตการผ่าตัดไม่พอ (Margin Positive) หรือขอบเขตการผ่าตัดน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร (Margin <1mm) ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะพิจารณาฉายรังสีเพิ่มเติม เนื่องจากโอกาสการกลับมาเป็นโรคซ้ำสูง การฉายรังสีบริเวณผนังทรวงอกและ/หรือต่อมน้ำเหลืองสามารถลดการกลับมาเป็นซ้ำของรอยโรคได้

มะเร็งเต้านมกับการฉายรังสี 

ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย (Metastatic Breast Cancer)

ผู้ป่วยในระยะนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดจากโรคได้ การรักษาจึงทำเพียงมุ่งหวังที่จะยืดการรอดชีวิต ควบคุมรอยโรค เพื่อบรรเทาอาการ และให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนใหญ่การฉายรังสีจะมีบทบาทในกรณีช่วยลดอาการปวด ลดภาวะเลือดออก ลดภาวะก้อนไปกดเบียดอวัยวะต่าง ๆ หรือกดเบียดเส้นเลือดใหญ่ และฉายรังสีเพื่อป้องกันภาวะกระดูกหักหรือทรุดตัว เป็นต้น

ผู้ป่วยที่มีการกลับมาเป็นซ้ำของโรค (Loco – Regional Recurrence)

ผู้ป่วยที่มีการกลับมาเป็นซ้ำของโรคที่บริเวณเต้านมหรือผนังทรวงอก หากสามารถทำการผ่าตัดเอารอยโรคออกได้ ควรได้รับการผ่าตัดและการฉายรังสีถ้าผู้ป่วยไม่เคยได้รับการฉายรังสีมาก่อน ในกรณีที่เคยฉายรังสีมาก่อน หากพิจารณาแล้วว่าสามารถมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยและสามารถฉายรังสีได้อย่างปลอดภัยสามารถฉายรังสีซ้ำได้ กรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดได้อาจจะรักษาด้วยการฉายรังสี หรือรักษาด้วย Systemic Treatment ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการรักษาภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้ชำนาญการ

อย่างไรก็ตามการฉายรังสีมีความสำคัญในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและช่วยลดโอกาสในการกลับมาเป็นซ้ำและด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยลดปริมาณรังสีที่อาจส่งผลต่ออวัยวะข้างเคียงได้ดีขึ้นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจึงสามารถคลายความกังวลในการรักษาเพื่อให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง