ผ่าตัดสงวนเต้า..รักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่

ผ่าตัดสงวนเต้า..รักษามะเร็งเต้านมแนวใหม่


กว่า 85% ของผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านม จะมาพบแพทย์ด้วยปัญหาการคลำพบก้อนที่เต้านม ในขนาดใหญ่หรือเล็กแตกต่างกัน แต่นั่นไม่ใช่อาการเริ่มต้นของมะเร็งเต้านม..!

ในสหรัฐอเมริกาผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะตั้งแต่ยังปรากฏอาการมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นข้อดีที่ชัดเจนของการตรวจแมมโมแกรม เพราะสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก นั่นคือ ระยะที่ไม่มีอาการ ทำให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายขาดสูง

“มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้หญิงเป็นอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกา
ส่วนในประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก”

ปัจจุบันผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมมากถึงปีละ 5,000 – 7,000 คน และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้น มะเร็งเต้านมเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อเต้านมและร่างกายไม่สามารถจะควบคุมการเจริญเติบโตที่ผิดปกตินั้นได้ ทำให้เซลล์ที่ผิดปกติเหล่านั้นโตออกไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วและกระจายออกไปยังอวัยวะอื่น ๆ

“เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม
ซึ่งเป็นโรคใกล้ตัวที่ต้องหมั่นดูแลและสำรวจตัวเอง
เพราะสาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านมนั้นไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าเกิดจากอะไร”

แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดแต่อย่างน้อยผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม มีผลมาจากปัจจัยหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น พันธุกรรม, มีประจำเดือนก่อนอายุ 11 ขวบ, ประจำเดือนหมดหลังอายุ 50 ปี, ผู้ที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรคนแรกเมื่ออายุ 30 ปี รวมทั้งปัจจัยภายนอกที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้มากขึ้น คือ การดื่มสุรา สูบบุหรี่ ความเครียด และการรับยาฮอร์โมนในภาวะมีบุตรยาก

 

ระยะของมะเร็งเต้านมแบ่งออกเป็น

  • ระยะ 0

    เป็นระยะเริ่มต้นของเซลล์มะเร็งที่ยังไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อของเต้านม หากตรวจพบตั้งแต่ระยะนี้มีอัตราการอยู่รอดถึง 100%

  • ระยะ 1

    ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตรและยังไม่ลุกลามถึงต่อมน้ำเหลือง

  • ระยะ 2

    ก้อนมะเร็งมีขนาดระหว่าง 2 – 5 เซนติเมตรจะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น

  • ระยะ 3

    ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตรลุกลามเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น

  • ระยะ 4

    มะเร็งได้แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นแล้ว

 

ศ.นพ.ศุภกร โรจนนินท์ ผู้อำนวยการศูนย์เต้านมวัฒโนสถ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ อธิบายเพิ่มเติม สมัยก่อนหากตรวจพบมะเร็ง การรักษา คือ ต้องตัดเต้านมทิ้ง แต่ปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งเบื้องต้นด้วยเครื่องดิจิทัลแมมโมแกรม ทำให้พบมะเร็งตั้งแต่เริ่มแรกช่วยให้การรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมทิ้งทั้งเต้าหรือเรียกว่าผ่าตัดสงวนเต้า ได้ โดยตัดบางส่วนที่เป็นเซลล์มะเร็งออกทำให้รูปทรงยังคล้ายของเดิม เก็บเต้านมไว้ให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้สูญเสียรูปทรง หากเต้านมที่เหลือผิดรูปร่างมากก็สามารถเสริมเต้าได้ด้วยแผ่นผิวหนังและไขมันของผู้ป่วยเองได้ และการผ่าตัดแบบสงวนเต้านี้จำเป็นต้องมีการฉายแสงด้วยประมาณ 20 – 25 ครั้งขึ้นอยู่กับระยะของโรคซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลดี

ส่วนคนที่เป็นมะเร็งระยะท้าย ๆ หากจำเป็นต้องตัดเต้านมทิ้งทั้งหมด เพื่อเป็นการไม่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าสูญเสียเต้านมไปทั้งหมด ปัจจุบันมีวิธีผ่าตัดคืนเต้า เมื่อเป็นมะเร็งต้องตัดทิ้งหมด ทางแพทย์จะสร้างเต้านมใหม่ โดยนำผิวหนัง กล้ามเนื้อและไขมันมาสร้างเป็นเต้านม ทำให้คนไข้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นใจ มีความสุข ปราศจากปมด้อยเกี่ยวกับหน้าอก เป็นผลดีทั้งสุขภาพกายและใจ

ข้อจำกัดของการผ่าตัดสงวนเต้า คือ ต้องเป็นความพึงพอใจของคนไข้ที่อยากทำและดูว่ามีมะเร็งก้อนเดียวหรือไม่ ถ้าไม่สามารถหาขอบเขตได้ หรือไม่ชัดเจนก็ไม่สามารถผ่าตัดได้ ส่วนการให้ฮอร์โมนและเคมีบำบัดในคนไข้แต่ละรายแพทย์จะพิจารณาว่าคนไข้เหมาะกับการรักษาด้วยวิธีใด

ทั้งนี้การป้องกันยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยเฉพาะการตรวจเต้านมด้วยตนเอง (หญิงที่อายุ 20 ปีขึ้นไป ควรฝึกหัดคลำเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน โดยเวลาที่เหมาะสมในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง คือ 7 วันหลังมีประจำเดือน เต้านมจะไม่ค่อยตึงและคลำจะไม่ค่อยเจ็บ นอกจากนี้ควรหมั่นสังเกตเต้านม โดยอาจใช้การส่องกระจกดูขนาดว่าเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ผิวหนังบริเวณเต้านมที่เปลี่ยนแปลง บุ๋มหรือหดรั้ง มีของเหลวผิดปกติไหลออกจากหัวนม ผิวหนังเปลี่ยนสีหรือไม่ เพื่อจะได้รักษาหรือทำการผ่าตัดมะเร็งเต้านมได้ทันท่วงที

 

ผ่าตัดมะเร็งเต้านม

 

“ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งคือ มะเร็งทุกชนิดแม้ว่ารักษาหายแล้วก็มีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้
จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะของโรค”

เราสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมและทำการผ่าตัดมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ นอกจากตรวจด้วยวิธีคลำด้วยตนเองแล้ว ในทุก 3 ถึง 5 ปี ควรพบแพทย์เพื่อตรวจดูการเปลี่ยนแปลง ผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไปควรทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ทุกปี หากมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งอาจต้องตรวจเร็วขึ้นตั้งแต่อายุ 35 ปี หรือผู้ที่เคยเป็นและรักษาหายแล้ว ควรพบแพทย์ทุก 6 เดือน

“มะเร็งเต้านมหากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก
สามารถผ่าตัดมะเร็งเต้านมได้โดยไม่ต้องสูญเสียเต้านมออกไปเลย”

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง