Breast MRI เครื่องตรวจวินิจฉัยเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Magnetic Resonance Imaging (MRI)

Breast MRI เครื่องตรวจวินิจฉัยเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Magnetic Resonance Imaging (MRI)


เพราะการตรวจเต้านมสำคัญกับผู้หญิงทุกคน นอกจากการตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ที่เป็นมาตรฐานการตรวจในปัจจุบันแล้ว ยังมีการตรวจวินิจฉัยเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า Magnetic Resonance Imaging (MRI) ที่ใช้ในการตรวจประเมินเต้านมอย่างละเอียด ทำให้สามารถประเมินสุขภาพเต้านมและตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยให้ตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาได้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

 

ความสำคัญของ Breast MRI

1. การตรวจ Breast MRI เพื่อคัดกรอง (Screening) แบ่งตามความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม ได้แก่

กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านมสูง (High Risk)

พบว่ามีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม (Lifetime Risk) มากกว่า 20% เมื่อเทียบกับประชาชนทั่วไป โดยกลุ่มนี้แนะนำให้ตรวจ MRI เต้านมปีละครั้ง ตั้งแต่อายุ 25 – 30 ปีขึ้นไป  เช่น

  • มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม ได้แก่ มารดาและพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน
  • ตรวจพบยีนในการเกิดมะเร็งเต้านม (BRCA1, BRCA2)
  • เคยรับการฉายแสงที่บริเวณทรวงอกตั้งแต่อายุ 10 – 30 ปี
  • ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกลุ่มโรคที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม เช่น Li-Fraumeni Syndrome, Cowden Syndrome หรือ Riley – Bannayan – Ruvalcaba Syndrome  

กลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง (Intermediate Risk)
พบว่ามีความเสี่ยง (Lifetime Risk) 15 – 20% และเคยได้รับตรวจชิ้นเนื้อเต้านมว่ามีเซลล์ที่ผิดปกติ เช่น Atypical Ductal Hyperplasia (ADH), Lobular Carcinoma in Situ (LCIS) หรือมีประวัติผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านมมาก่อน และตรวจพบว่าเนื้อเต้านมมีความหนาแน่นมากในภาพแมมโมแกรม (Dense Breast Tissue) การตรวจคัดกรองเต้านมด้วยเครื่อง MRI ในกลุ่มนี้สามารถส่งตรวจได้ปีละครั้ง

กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ (Low Risk)
พบว่ามีความเสี่ยง (Lifetime Risk) น้อยกว่า 15 % ที่ไม่มีอาการ กลุ่มนี้ไม่แนะนำให้ตรวจคัดกรองด้วยเครื่อง MRI เต้านม

 

2. การตรวจ Breast MRI เพื่อประเมินก่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม (Preoperative Evaluation of Breast Cancer) ได้แก่

  • ดูขอบเขตการขยายตัวของรอยโรค (Extension of Disease) โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการทำการรักษาแบบสงวนเต้านม (Breast Conservative Surgery)
  • ตรวจหามะเร็งตำแหน่งอื่นในเต้านมข้างเดียวกัน (Multicentric / Multifoci Lesions)
  • ตรวจหามะเร็งเต้านมในอีกข้างหนึ่ง (Synchronous Breast Cancer)

3. การตรวจ Breast MRI เพื่อตรวจหาความผิดปกติของถุงซิลิโคน (Breast Implant Integrity) และโรคเต้านมในผู้ป่วยที่เสริมเต้านม ทั้งในกลุ่มที่เสริมแบบชนิดถุงซิลิโคนหรือชนิดฉีด ที่ไม่สามารถตรวจประเมินได้ด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์

4. การตรวจ Breast MRI ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการผ่าตัดมาแล้ว เพื่อประเมินรอยโรคเหลือที่ขอบของก้อน (Positive Surgical Margin) หรือมะเร็งที่เกิดซ้ำ (Recurrence Tumor) ที่ต้องได้รับการรักษาต่อไป

5. การตรวจ BreastMRI ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ตรวจติดตามหลังการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด เพื่อประเมินขนาดของก้อนมะเร็ง (Evaluate Treatment Response After Neoadjuvant Chemotherapy)

6. การตรวจ Breast MRI ในผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่น ๆ และสงสัยว่าสาเหตุมาจากมะเร็งเต้านม (Occult Breast Cancer)

7. การตรวจ Breast MRI เพื่อช่วยวินิจฉัยในกรณีที่ตรวจเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์แล้วไม่สามารถระบุรอยโรคได้แน่ชัด

8. การตรวจ Breast MRI เพื่อช่วยในการเจาะชิ้นเนื้อภายใต้เครื่อง MRI ในกรณีรอยโรคตรวจพบเฉพาะใน MRI เท่านั้น (MRI – Guided Biopsy)

ขั้นตอนการตรวจ Breast MRI

  • สำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือน ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตรวจคือ ช่วงหลังจากมีประจำเดือน โดยนับจากวันแรกที่มีประจำเดือนประมาณ 7 – 14 วัน สามารถนัดตรวจในช่วงนี้เพื่อลดผลบวกลวง (False Positive) ในการแปลผล
  • สำหรับผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้วสามารถนัดตรวจได้ตามปกติ
  • การตรวจ MRI เต้านมจำเป็นจะต้องฉีดสารเปรียบต่าง (Gadolinium Contrast Agent) ดังนั้นผู้ป่วยทุกรายต้องได้รับการเจาะเลือดเพื่อตรวจค่าไต (Serum Creatinine) ก่อน เพื่อใช้ในการหาดูการทำงานของไต (eGFR) ก่อนฉีดสาร โดยถ้าหากผล eGFR น้อยกว่าค่าปกติให้พิจารณาเลี่ยงการฉีดสาร แต่ในกรณีที่จำเป็นต้องฉีดต้องมีการแจ้งให้ผู้ป่วยและแพทย์เจ้าของไข้รับทราบก่อนทุกครั้ง
  • ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเต้านมมาก่อน แนะนำให้ตรวจภายหลังการผ่าตัดอย่างน้อย 1 เดือน
  • เจ้าหน้าที่จะทำการสอบถามประวัติการตรวจรักษาหรือการผ่าตัด รวมทั้งการตรวจภาพวินิจฉัยเต้านมของผู้ป่วยที่เคยได้รับการตรวจมาก่อนทุกครั้ง เพื่อแจ้งรังสีแพทย์เพื่อความถูกต้องในการแปลผล

เตรียมตัวก่อนตรวจ Breast MRI

  1. ไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหารก่อนทำการตรวจ
  2. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบผลเลือดค่าการทำงานไตของผู้ป่วยก่อนทำทุกครั้ง
  3. ผู้ป่วยหรือญาติต้องเซ็นต์ใบยินยอมรับการตรวจวินิจฉัยก่อนทำการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทุกครั้ง
  4. เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดที่โรงพยาบาลจัดเตรียมไว้ให้
  5. ไม่ใช้อายชาโดว์และมาสคาร่า เพราะอาจมีส่วนผสมของโลหะ ทำให้เกิดสิ่งแปลกปลอมในภาพได้
  6. เนื่องจากห้องตรวจ MRI มีสนามแม่เหล็กแรงสูงตลอดเวลา มีผลต่อการทำงานของเครื่องมือที่ไวต่อแม่เหล็ก เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบประวัติผู้ป่วยก่อนเข้าเครื่องตรวจอีกครั้งว่าเคยผ่าตัดเปลี่ยนโลหะในร่างกาย (Metallic Implant) รวมถึงให้ผู้มารับการตรวจถอดเก็บการ์ดที่ใช้แถบแม่เหล็กในตู้ล๊อกเกอร์ที่จัดเตรียมไว้ให้ เช่น บัตรเครดิต ATM,  กิ๊บติดผม, ฟันปลอม, ต่างหู, เครื่องประดับ, นาฬิกา, กระเป๋าสตางค์, เหล็กดัดฝัน, Thumb Drive
  7. พยาบาลจะเปิดเส้นเลือดดำบริเวณหลังมือหรือข้อพับแขนด้วยเข็มเบอร์เล็กเพื่อฉีดสารเปรียบต่าง (Contrast Agent) เข้าหลอดเลือดดำ    
  8. เจ้าหน้าที่จะจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนคว่ำบนเตียงตรวจ ซึ่งเตียงจะสามารถเลื่อนเข้าออกในอุโมงค์ของเครื่อง MRI  ดังนั้นขณะทำการตรวจให้นอนนิ่ง ๆ หายใจเบา ๆ   ระหว่างที่ตรวจจะได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเป็นพัก ๆ ให้ปฏิบัติตามคำบอกของเจ้าหน้าที่เพื่อให้ได้ภาพชัดเจนในการแปลผลตรวจ
  9. ระหว่างทำการตรวจ ผู้ที่มาตรวจต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงดัง
  10. ผู้เข้ารับการตรวจอาจรู้สึกร้อนและเหงื่อออกได้ เป็นอาการปกติในระหว่างเครื่องตรวจทำงาน แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น หายใจขัด หายใจไม่สะดวก เจ็บอก ผื่นคัน สามารถกดปุ่มแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันที

ข้อควรระวังในการตรวจ Breast MRI

  • ผู้ที่ไม่สามารถคว่ำนาน ๆ หรือกลัวที่แคบ (Claustrophobia) ควรหลีกเลี่ยง ถ้ามีความจำเป็นต้องตรวจควรปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อนเพื่อพิจารณาให้ยาระงับความรู้สึกก่อนทำ
  • ผู้ที่มีการผ่าตัดฝังอุปกรณ์โลหะภายในร่างกายควรเลี่ยง เช่น เครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจ (Pacemaker, เครื่องกระตุ้นหัวใจ (AICD), ลิ้นหัวใจเทียม (Artificial Cardiac Valve), ลวดโลหะในสมอง (Cerebral Aneurysm Clips), ผู้ที่ผ่าตัดใส่อวัยวะเทียมภายในหู
  • ผู้ที่ผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูก (Metal Plate), เปลี่ยนข้อเทียม, Stent ที่หลอดเลือดหัวใจ ต้องสอบถามแพทย์ที่ผ่าตัดก่อนว่าเป็นโลหะชนิดที่สามารถเข้าเครื่อง MRI ได้หรือไม่ (MRI Compatible) เพื่อความปลอดภัยในการตรวจ
  • สตรีตั้งครรภ์โดยเฉพาะในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ต้องหลีกเลี่ยง ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที (แม้ปัจจุบันยังไม่พบว่าการตรวจ MRI มีอันตรายต่อทารกในครรภ์ก็ตาม)
  • หญิงให้นมบุตรที่มีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้ชำนาญการและงดให้นมบุตร 24 ชั่วโมงหลังตรวจเสร็จ เนื่องจากสารเปรียบต่างสามารถขับผ่านน้ำนมได้เล็กน้อย ผู้ป่วยควรปั๊มนมเก็บไว้ก่อนเข้ารับการตรวจ

 

การตรวจวินิจฉัยเต้านมด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (BREAST MRI)  สามารถใช้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูง ประเมินความผิดปกติในเต้านมได้ชัดเจนมากขึ้นในผู้ป่วยที่มีความจำเป็นและมีข้อบ่งชี้ในการตรวจตามที่แพทย์เฉพาะทางได้แนะนำ

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง