พิษร้ายควันบุหรี่ ภัยเงียบใกล้ตัวคุณ

พิษร้ายควันบุหรี่ ภัยเงียบใกล้ตัวคุณ


หลายคนอาจมองข้ามพิษภัยของ “บุหรี่” ภัยเงียบใกล้ตัวที่แฝงความน่ากลัวมายังตัวคุณและคนรอบข้างอย่างไม่รู้ตัว องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า ในควันบุหรี่ เต็มไปด้วยนิโคติน (สารเสพติด) สารเคมี 7,000 ชนิด สารพิษมากกว่า 250 ชนิด และสารก่อมะเร็ง มากกว่า 70 ชนิด ยิ่งสูบบุหรี่นานเท่าไร ก็ยิ่งเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บที่บั่นทอนชีวิตให้สั้นลง อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อคนรอบข้าง (Second Hand Smoker) ถึงแม้จะไม่ได้สูบเองก็ตาม แต่พิษร้ายจากควันของบุหรี่สามารถสร้างความอันตรายไม่ต่างกับสูบด้วยตัวเอง

โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ ทารก และเด็กควรหลีกเลี่ยงไม่อยู่ใกล้ชิดผู้สูบบุหรี่หรือสิ่งแวดล้อมที่มีควันบุหรี่  เพราะจะทำให้เลือดผ่านรกได้น้อย ส่งผลต่อทารกในครรภ์ ทำให้ได้รับสารอาหารน้อยลงกว่าปกติ เสี่ยงต่อการแท้งบุตร หรือทำให้ทารกแรกคลอดตัวเล็กมีน้ำหนักน้อยลง และปริมาณออกซิเจนที่จะเข้าสู่สมองลดลง หากนิโคตินสามารถแทรกซึมผ่านเข้าไปในรกได้จะส่งผลกระทบต่อสมองของทารกในครรภ์ทำให้มีผลต่อสติปัญญาและพฤติกรรมเด็กอีกด้วย

 

มะเร็งปอด

มะเร็งปอดถือเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย จากสถิติทั่วโลกพบว่า ทุกปีมีคนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอดปีละ 1.8 ล้านคน ในประเทศไทยมะเร็งปอดถือเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 ในผู้ชาย และอันดับ 4 ในผู้หญิง

แม้ว่ามะเร็งปอดไม่ได้เป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุด แต่มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิต อันดับ 1 เนื่องจากมะเร็งปอดเป็นโรคร้ายแรงและมักพบมะเร็งเมื่อเป็นระยะกระจาย ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แม้โรคมะเร็งอื่น ๆ ที่มีคนเป็นกันเยอะกว่า เช่น มะเร็งเต้านมหรือมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่มะเร็งเหล่านี้ไม่ทำให้เสียชีวิตเท่ากับมะเร็งปอด

บุหรี่กับมะเร็งปอด

บุหรี่กับมะเร็งปอด

ปัจจัยเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดหลัก ๆ คือ การสูบบุหรี่ รวมไปถึงการสูบบุหรี่มือสอง คือไม่ได้สูบเอง แต่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น

ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ในการเกิดมะเร็งปอด เช่น ก๊าชเรดอน (Radon Gas) เยื่อใยหิน (Asbestos) และประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอด

ช่วงก่อนที่จะมีบุหรี่ โรคมะเร็งปอดเป็นโรคประหลาดพบได้ไม่บ่อย แต่พอหลังจากมีการสูบบุหรี่อย่างกว้างขวาง ทำให้โรคมะเร็งปอดเกิดขึ้นในโลกนี้อย่างมากมาย การศึกษาต่อมาจึงพบว่า บุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอด

ในบุหรี่มีสารก่อมะเร็งมากมายหลายชนิด โดยเฉพาะ Tar ที่ทำให้ปอดเหมือนมียางมะตอยเกาะในปอด มีการประมาณกันว่า หากไม่มีบุหรี่ มะเร็งปอดจะลดลงถึง 80 – 90% ทั่วโลกเลยทีเดียว

แต่ในกลุ่มชาวเอเชีย เช่น ชาวไทย มีลักษณะพิเศษของมะเร็งปอด คือ 40 – 60% ของมะเร็งที่เกิดในคนไทยไม่ได้มาจากการสูบบุหรี่ แต่เกิดจากความผิดปกติของ Gene บางอย่างในเซลล์ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เป็นมะเร็ง

สูบบุหรี่เสี่ยงมากกว่ามะเร็งปอด

บุหรี่ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงแค่มะเร็งปอด แต่ยังเสี่ยงต่อมะเร็งเกือบทุกชนิด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น เนื่องจากในบุหรี่มีสารก่อมะเร็งมาก ทำให้เกิดมะเร็งได้หลายชนิด

การวินิจฉัยมะเร็งปอด

อาการและการวินิจฉัยมะเร็งปอด

อาการของมะเร็งปอด เช่น

  • ไอ
  • เหนื่อยง่าย
  • น้ำหนักลด
  • ไม่มีแรง
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดตามตัวหรือกระดูก

จะเห็นว่าอาการเหล่านี้ไม่จำเพาะกับมะเร็งและพบได้บ่อยในผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว กว่ามะเร็งจะเกิดอาการมักเป็นระยะท้าย ๆ ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง คือ ผู้สูบบุหรี่มากกว่า 30 pack year (คำนวณจากจำนวนซองที่สูบต่อวัน x จำนวนปีที่สูบเช่น 2 ซองต่อวัน 15 ปี = 2×15 = 30 pack year เป็นต้น) หรือผู้ที่เลิกสูบน้อยกว่า 15 ปีมาตรวจ Low Dose CT Chest (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด) ปีละครั้งเพื่อค้นหามะเร็งระยะแรก (Lung Cancer Screening) ทำให้พบมะเร็งปอดระยะแรก ซึ่งมีโอกาสรักษาหายได้มากขึ้น

หากแพทย์ผู้รักษาสงสัยจะส่งตรวจโดยการเจาะเนื้อที่ปอดมาดูเพื่อยืนยันชิ้นเนื้อ หลังยืนยันว่าเป็นมะเร็งปอดจะมีการทำ CT หรือ PET/CT ร่วมกับ MRI สมองเพื่อวินิจฉัยระยะของโรคเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

รักษามะเร็งปอด

หากเป็นระยะแรกจะใช้การผ่าตัดร่วมกับการฉายแสงและเคมีบำบัด โดยขึ้นกับผู้ป่วย ขนาดของมะเร็ง และตำแหน่งของมะเร็ง หากเป็นระยะกระจายหรือที่เรียกกันว่า “ระยะที่ 4” จะใช้การรักษาด้วยยา ซึ่งยาจะมีทั้งเคมีบำบัด ยาพุ่งเป้า (Targeted Therapy) หรือ ยากลุ่ม Immunotherapy  ซึ่งถือเป็นยากลุ่มใหม่ที่ใช้รักษามะเร็งปอดและเริ่มมีการใช้ในช่วง 4 – 5 ปีมานี้

ย้อนไปเมื่อ 20 ปีจนถึง 10 ปีที่ผ่านมา การรักษามะเร็งปอดยังไม่ค่อยมีอะไรใหม่ ทำให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้เสียชีวิตเร็วและมีจำนวนมากจนสมาคมต่าง ๆ ทั่วโลกได้ให้ทุนและสนับสนุนการวิจัยเพื่อการรักษามะเร็งปอด ทำให้การรักษามะเร็งมีความคืบหน้าเร็วเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง ถึงแม้การรักษาจะดีขึ้น อัตราการมีชีวิตยาวมากขึ้น แต่ยังถือเป็นการตายจากมะเร็งอันดับ 1 ดังนั้นการช่วยกันลด ละ เลิกสูบบุหรี่ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง หากเป็นแล้วค้นพบมะเร็งปอดได้ในระยะแรก มีโอกาสรักษาหายได้

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง