ภูมิคุ้มกันบำบัด อีกหนึ่งทางเลือกของการรักษามะเร็ง

ภูมิคุ้มกันบำบัด อีกหนึ่งทางเลือกของการรักษามะเร็ง


หากกล่าวถึงการรักษาหลัก ๆ สำหรับโรคมะเร็ง หลายคนคงนึกถึงการรักษาด้วยการผ่าตัด การรักษาด้วยรังสี (หรือการฉายแสง) และรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ในปัจจุบันอีกหนึ่งทางเลือกใหม่คือ “การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)”  ซึ่งถือเป็นยากลุ่มใหม่ที่ให้ประสิทธิภาพการรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

 

หลักการของภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy)

ในร่างกายของเรามีเซลล์ผิดปกติเหมือนเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นทุกวัน แต่ด้วยกลไกของร่างกาย ทำให้เซลล์มะเร็งไม่กลายเป็นโรคมะเร็ง เพราะเซลล์ผิดปกตินี้จะทำลายตัวเอง หรือหากหลุดรอดจากการทำลายตัวเองก็จะมีเซลล์ภูมิต้านทานของร่างกายมาทำลายเซลล์มะเร็งนี้ เพราะฉะนั้นเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้นทุกวันจึงไม่ได้ส่งผลให้เป็นโรคมะเร็ง แต่การที่เรายังมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งได้นั้นเกิดจากเซลล์มะเร็งที่เกิดขึ้นสร้างโปรตีนบางอย่างเพื่อพรางตัวเอง ส่งผลให้ภูมิต้านทานของร่างกายไม่สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้และทำให้เป็นโรคมะเร็งในที่สุด

หลักการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด คือ เมื่อเกิดการผิดปกติของเซลล์ ยาในกลุ่มนี้จะเข้าไปช่วยเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มีประสิทธิภาพในการต่อต้านเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น

 

รู้จักยาในการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด

ยา Nivolumab และยา Pembrolizumab เป็นยากลุ่มหนึ่งที่ใช้ในการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ในร่างกายให้ทำลายเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น ซึ่งยาทั้ง 2 ชนิดได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาและไทยให้สามารถรักษามะเร็งชนิดต่าง ๆ ในผู้ใหญ่ได้ ดังนี้

1) Nivolumab

สามารถใช้ในการรักษา

  • โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาระยะลุกลามที่ไม่สามารถผ่าตัดหรืออยู่ในระยะแพร่กระจาย โดยอาจใช้เป็นยาเดี่ยวหรือร่วมกับยาอื่น
  • โรคมะเร็งปอดชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก (Non – Small Cell Lung Cancer) ระยะลุกลามหรือระยะแพร่กระจายหลังจากได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดมาก่อน
  • โรคมะเร็งของเซลล์ไต (Renal Cell Carcinoma) ระยะลุกลามหลังจากได้รับการรักษามาก่อน
  • โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin  (Classical Hodgkin Lymphoma) ที่มีการกลับเป็นซ้ำหรือดื้อต่อการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกและการรักษาด้วยยา Brentuximab Vedotin
  • โรคมะเร็งของศีรษะและคอชนิด Squamous Cell ที่มีการกำเริบขึ้นหรือหลังจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดกลุ่มแพลตินัม
  • โรคมะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ (Urothelial Carcinoma) ระยะลุกลามเฉพาะที่ ซึ่งไม่สามารถผ่าตัดได้หรือระยะแพร่กระจายที่ล้มเหลวจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดกลุ่มแพลตินัม

2) Pembrolizumab

สามารถใช้ในการรักษา

  • โรคมะเร็งผิวหนังเมลาโนมาระยะลุกลามที่ไม่สามารถผ่าตัดหรืออยู่ในระยะแพร่กระจาย
  • โรคมะเร็งปอดชนิดที่ไม่ใช่เซลล์ขนาดเล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer) ระยะลุกลามหรือระยะแพร่กระจายที่มีการตรวจสอบแล้วพบว่ามี PD-L1 ปรากฏอยู่บนเซลล์มะเร็ง
  • โรคมะเร็งของศีรษะและคอชนิด Squamous Cell ที่มีการกำเริบขึ้นหรือหลังจากการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดกลุ่มแพลตินัม

ยาทั้งสองตัวนี้ได้รับการยืนยันโดยการวิจัยทางการแพทย์แล้วว่าสามารถชะลอการดำเนินของโรค และ/หรือเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้ เมื่อเทียบกับยาเคมีบำบัด ยาทั้ง 2 ชนิดนี้มีผลข้างเคียงน้อยกว่าในเรื่องการกดไขกระดูก คลื่นไส้อาเจียน หรืออาการข้างเคียงที่อาจรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย จึงได้รับการยอมรับและนำมาใช้ในการรักษาอย่างกว้างขวางในระดับสากล

แต่เนื่องจากยาออกฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับภาวะภูมิไวเกิน อาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางชนิด ดังนั้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด ผู้ป่วยควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดโดยการใช้ยาคืออีกทางเลือกในการรักษามะเร็งเพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดควรทำการรักษาร่วมกับทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพ เพื่อให้สามารถออกแบบทุกขั้นตอนการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย”

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง