ก้าวสำคัญของเทคโนโลยีการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว
หากเอ่ยถึง โรคเลือด หลายท่านอาจรู้สึกคุ้นหูและคิดว่าโรคเลือดก็คือ ภาวะโลหิตจาง หรือไม่ก็โรคธาลัสซีเมีย แต่จริง ๆ แล้วโรคเลือดมีความหมายกว้างและครอบคลุมโรคต่าง ๆ มากกว่านั้น โดยจะรวมไปถึงโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น
ในประเทศไทยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคระบบโลหิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย แม้ร่างกายจะมีกระบวนการจัดการความผิดปกติที่เกิดขึ้น แต่ถ้าวันใดเกิดความไม่สมดุลในร่างกาย เช่น วิตกกังวล การติดเชื้อ การได้รับสารเคมีบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เสียสมดุลของกลไกทางภูมิคุ้มกัน เซลล์ที่ผิดปกติจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและควบคุมไม่อยู่จนกลายเป็นมะเร็งได้ในที่สุด แต่ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ ปัจจุบันโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้ หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและรวดเร็ว พร้อมทั้งมีแนวทางการรักษาที่เหมาะสม
โรคระบบโลหิตวิทยา
โรคระบบโลหิตวิทยาเป็นกลุ่มโรคที่พบได้บ่อยทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันที่พบความรุนแรงและรักษาได้ยาก เมื่อเทียบกับโรคมะเร็งทั่วไป เพราะระบบเลือดเป็นระบบที่สำคัญของร่างกายรองจากปอดและหัวใจ ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
โรคทางระบบโลหิตวิทยาหรือโรคเลือด หมายถึง โรคหรือความผิดปกติของเม็ดเลือด ไขกระดูก ระบบ Reticuloendothelial ต่อมน้ำเหลือง และระบบภูมิคุ้มกัน รวมทั้งปัจจัยของการแข็งตัวของเลือด แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
- กลุ่มมะเร็งระบบเลือด ซึ่งพบได้บ่อย เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) มะเร็งไขกระดูก (Multiple Myeloma หรือ MM)
- กลุ่มโรคเลือดที่ไม่ใช่มะเร็ง ซึ่งแบ่งได้ดังนี้
- โรคที่มีภาวะโลหิตจาง เช่น โรคธาลัสซีเมียซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก โลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 และโฟเลต เป็นต้น ผู้ที่เป็นโรคเหล่านี้จะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ออกกำลังกายแล้วเหนื่อย ในกรณีที่เป็นรุนแรงอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
- โรคที่มีความผิดปกติของไขกระดูก เช่น โรคไขกระดูกฝ่อ เกิดจากการที่ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดได้น้อยลง ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการซีด เหนื่อยง่าย ไม่มีแรง มีจ้ำเลือด และเลือดออก เป็นไข้และมีโรคติดเชื้อ
- โรคมะเร็งระบบเลือด เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน (Acute Leukemia) ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน จะมีจ้ำเลือด จุดเลือดออก เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน หรือเลือดประจำเดือนออกมาก มีไข้และโลหิตจาง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง (Chronic Leukemia) ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังมีม้ามโตหรือต่อมน้ำเหลืองโต โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Malignant Lymphoma) ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง พบมีต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณคอ รักแร้ และขาหนีบ ก้อนโตเร็วแต่ไม่เจ็บ อาจมีไข้และน้ำหนักลดร่วมด้วย และ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิล มัยอิโลมา (Multiple Myeloma) ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิล มัยอิโลมา (Multiple Myeloma) จะมีอาการปวดกระดูก ซีด และภาวะไตวาย
- โรคที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ เช่น โรคเลือดไหลไม่หยุด โรคเลือดออกผิดปกติจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคตับ หรือภาวะลิ่มเลือดกระจายทั่วไปในหลอดเลือด
- โรคที่มีการอุดตันของหลอดเลือดดำ ที่พบบ่อยคือ หลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน ทำให้มีขาบวมข้างเดียว ก้อนเลือดอาจหลุดไปอุดที่หลอดเลือดในปอดได้
การปลูกถ่ายไขกระดูก
ปัจจุบันวงการแพทย์ได้มีการนำการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดหรือที่เรียกว่า การปลูกถ่ายไขกระดูกเข้ามาใช้ ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่สามารถรักษาผู้ป่วยโรคทางมะเร็งโลหิตวิทยาให้มีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพ หรือมีโอกาสหายขาดได้
โดยการปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นการแทนที่เซลล์ที่ไม่แข็งแรงหรือเซลล์ที่ผิดปกติในไขกระดูก ด้วยเซลล์ต้นกำเนิดที่แข็งแรงและปกติ เนื่องจากเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดสามารถเก็บได้มาจาก 3 แหล่งในร่างกายมนุษย์ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจึงมักถูกเรียกเป็นการปลูกถ่ายไขกระดูก การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจากกระแสเลือด และการปลูกถ่ายเลือดจากสายสะดือ เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่ปกติสามารถหาได้จากผู้บริจาค ซึ่งอาจจะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรืออาจจะเป็นอาสาสมัครผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ (หรือในบางกรณีของโรคมะเร็ง อาจใช้เซลล์ต้นกำเนิดของตัวผู้ป่วยเอง) เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดนั้นจะถูกนำมาให้ผู้ป่วย (ผู้รับ) ทางสายสวนหลอดเลือดดำ หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการเตรียมการโดยการรับยาเคมีบำบัดขนาดสูงแล้ว (บางกรณีใช้การฉายรังสีรักษาทั่วตัวร่วมด้วย) โดยเซลล์ต้นกำเนิดจะเจริญเติบโต เพิ่มจำนวน และพัฒนาไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ที่แข็งแรงในที่สุด
การรักษาผู้ป่วยด้วยเทคนิคปลูกถ่ายไขกระดูกในโรคมะเร็งระบบเลือด ถ้ายิ่งทำได้เร็วโอกาสที่จะหายขาดก็มีมาก โอกาสที่โรคจะกลับเป็นใหม่มีน้อยกว่า การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันให้ได้ผลดีควรปลูกถ่ายภายหลังบำบัดโรคได้สงบในครั้งแรก
อาการที่สงสัยจะเป็นโรคเลือดและควรมาพบแพทย์ เช่น ภาวะโลหิตจาง มีเลือดออกตั้งแต่ 2 แห่งพร้อมกัน เช่น เลือดออกตามไรฟันพร้อมกับเลือดกำเดาไหล และต่อมน้ำเหลืองโต เป็นต้น
ศูนย์โลหิตวิทยา โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ มีการขยายห้องปลอดเชื้อเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ต้องการปลูกถ่ายไขกระดูก รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องการรักษาด้วยเคมีบำบัด โดยมีจุดเด่นคือ การวินิจฉัยที่รวดเร็ว ทันท่วงที การรักษาที่ยืดหยุ่นตามความเหมาะสม รวมถึงเปิดให้มีการพูดคุยกับผู้ป่วยและญาติ (Family Conference) เพื่อให้เข้าใจโรคมากขึ้น โดยเฉพาะเคสผู้ป่วยที่พบความผิดปกติของโรคหลายระบบพร้อมกัน