มะเร็งปอด

มะเร็งปอด


อุบัติการณ์โรคมะเร็ง

โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนทั่วโลก องค์การอนามัยโลกพบว่า ในปี พ.ศ. 2551 มีผู้ป่วยรายใหม่จํานวน 12.7 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งราว 7.6 ล้านคน หรือคิดเป็น 13% จากสาเหตุการเสียชีวิตของคนทั่วโลก ซึ่งจํานวนผู้เสียชีวิตพบได้มากกว่าการเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรียรวมกัน

โรคมะเร็งที่พบ 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลําไส้ใหญ่ มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งต่อมลูกหมาก ในบรรดาผู้ป่วยใหม่จํานวน 12.7 ล้านคน พบมะเร็งปอด 1.6 ล้านคน ส่วนจํานวนผู้เสียชีวิต 7.6 ล้านคนเป็นผู้ป่วยมะเร็งปอด 1.37 ล้านคน

จากข้อมูลของสํานักนโยบายและยุทธศาสตร์รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งประมาณ 61,082 คน เป็นเพศชาย 35,437 คน เป็นเพศหญิง 25,645 คน ซึ่งถือเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเพศชายมีจํานวนผู้เสียชีวิต 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลําไส้ใหญ่ มะเร็งช่องปากและคอยหอย มะเร็งเม็ดเลือดขาว ส่วนเพศหญิง มีจํานวนผู้เสียชีวิต 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลําไส้ใหญ่ จะเห็นได้ว่าโรคมะเร็งปอดเป็นปัญหาสําคัญ 1 ใน 5 อันดับแรกของประเทศ ซึ่งได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลําไส้ใหญ่

สถานการณ์ภาพรวมของอัตราการเกิดโรคมะเร็งในประเทศไทยคล้ายกับประชากรทั่วโลก กล่าวคือ จะพบอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นทุกปี เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง หนึ่งในนั้นคืออายุที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงของโรคก็จะเพิ่มขึ้นด้วย และขณะนี้สังคมไทยก็กําลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป)

 


สาเหตุมะเร็งปอด

โรคมะเร็งเกิดจากหลายสาเหตุ สำหรับโรคมะเร็งปอดสาเหตุหลักสำคัญอันดับ 1 คือ การสูบบุหรี่ หรือการได้รับควันบุหรี่จากผู้ใกล้ชิด (Second Hand Smoker) สารก่อมะเร็งอาจมาจากสภาวะแวดล้อมและการทำงาน ได้แก่ Radon และ Asbestos มลภาวะในอากาศ และความผิดปกติของพันธุกรรม

อาการมะเร็งปอด

ผู้ป่วยบางรายที่ตรวจพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการ ส่วนใหญ่ตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อมาตรวจเช็กสุขภาพ บางรายอาจมีอาการไอเรื้อรัง หายใจลำบาก ไอมีเสมหะปนเลือด ปอดอุดตันอักเสบ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร หรือเมื่อโรคมะเร็งลุกลามไปกระดูกอาจมีอาการปวดหลัง หรือปวดบริเวณตำแหน่งของกระดูกที่มะเร็งกระจายไป เมื่อลุกลามไปที่ตับอาจมีอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน ถ้าลุกลามไปสมอง อาจมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แขนขาอ่อนแรง เป็นต้น

 

ตรวจคัดกรองมะเร็งปอด

ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง ทำให้ตรวจพบโรคในระยะแรก สามารถให้การรักษาที่เหมาะสมได้ทันท่วงที ผลการรักษาจะดีกว่าการปล่อยให้โรคเรื้อรังจนมีอาการของโรคมะเร็งและมีการกระจายไปยังอวัยวะสำคัญอื่นแล้ว

จากการศึกษาในต่างประเทศ กลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอด คือ ผู้ที่สูบบุหรี่ การตรวจด้วยเครื่อง CT scan (Low dose CT) สามารถตรวจพบโรคมะเร็งปอดในระยะแรกได้เพิ่มขึ้น  สามารถให้การรักษาได้ทันท่วงที ทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น อัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งด้วย X-Ray ปอดธรรมดา

 

รักษามะเร็งปอด

ปัจจุบันโรคมะเร็งปอดเป็นโรคที่รักษาได้ เมื่อตรวจพบควรรีบปรึกษาแพทย์ ส่วนการรักษาโรคมะเร็งปอดขึ้นกับระยะของโรค ชนิดเซลล์มะเร็งที่ตรวจพบ และสุขภาพความแข็งแรงของผู้ป่วย ซึ่งโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ เรามีทีมแพทย์สหสาขา (Tumor Board, Tumor Conference ) ทั้งทีมศัลยแพทย์โรคมะเร็ง, รังสีวินิจฉัย, รังสีรักษา, แพทย์นรีเวชโรคมะเร็ง, Intervention Radiologist, Pain Specialist, แพทย์โภชนาการ, พยาบาลเฉพาะทาง และอีกมากมาย ร่วมกันวินิจฉัย วางแผนการรักษาผู้ป่วยอย่างครบองค์รวม เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุดแก่ผู้ป่วย มีเครื่อง PET/CT Scan ช่วยในการวินิจฉัยโรคมะเร็ง และมีเครื่องฉายแสงแบบ 4 มิติเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการรักษาสูงสุดในขณะที่ผลข้างเคียงน้อยที่สุด

ส่วนการรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็กในระยะเริ่มต้นจะรักษาด้วยการผ่าตัด ในระยะที่สูงขึ้นผ่าตัดไม่ได้จะพิจารณาให้การฉายรังสีรักษาร่วมกับเคมีบำบัด ส่วนในระยะที่ตัวโรคกระจายไปอวัยวะสำคัญอื่น ๆ แล้ว จะใช้ยาเคมีบำบัดหรือยามุ่งเป้า (Targeted Therapy)

Radiotherapy for Lung Cancer Treatment
Diagnosis and Treatment Monitoring by PET/CT scan

Gene Mutation ยีนผิดปกติในมะเร็งปอด

ปัจจุบันพบว่าโรคมะเร็งปอดจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะชนิดกลุ่มเซลล์ Non – Squamous เกิดจากยีนผิดปกติในร่างกาย ที่เรียกว่ายีน EGFR หรือ ยีน ALK สามารถตรวจจากชิ้นเนื้องอกที่ปอด หรือจากตำแหน่งที่มะเร็งกระจายไป เช่น บริเวณตับ ถ้าเอาชิ้นเนื้อไม่ได้หรือได้ไม่พอยังสามารถตรวจจากเลือดได้ ถ้าพบยีนผิดปกติ ซึ่งในคนไทย คนเอเชีย ตรวจพบยีน EGFR ผิดปกติ ประมาณ 40 – 60%

ขณะนี้มียารักษามุ่งเป้าชนิดเม็ดรับประทานออกฤทธิ์ที่ยีนผิดปกตินี้โดยตรง พบการตอบสนองต่อยา (Objective Response Rate) ถึง 50 – 80% ผู้ป่วยไม่ต้องฉีดยาเคมี ผมไม่ร่วง ไม่คลื่นไส้ อาเจียนเท่ายาเคมีบำบัด บางท่านที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดระยะสุดท้ายและตรวจพบยีนผิดปกติดังกล่าวใช้ยามุ่งเป้าชนิดเม็ดมาแล้ว 4 – 5 ปี ขณะนี้ก็ยังได้ผล นับเป็นการรักษาที่เปลี่ยนโฉมการรักษาโรคมะเร็งปอดเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยาเคมีบำบัดในอดีต

ส่วนในกลุ่มที่ตรวจไม่พบยีนกลายพันธุ์ยังคงใช้ยาเคมีบำบัด โชคดีที่ขณะนี้มียาป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนใหม่ ๆ ทำให้อาการคลื่นไส้อาเจียนอันเกิดจากยาเคมีบำบัดลดลงไปมาก และยังมียากระตุ้นเม็ดเลือดขาวไว้ให้ในรายที่มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ทำให้สามารถลดหรือป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้ยาเคมีบำบัดได้ดีกว่าอดีตที่ผ่านมา ล่าสุดมียากลุ่มใหม่ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเซลล์มะเร็งปอดได้ดีขึ้น ยากลุ่มนี้คือ PD-1 Inhibitor และ PD-L1 Inhibitor

ปัจจุบันโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถได้ร่วมมือกับสถาบันรักษามะเร็งระดับโลก “The University of Texas MD Anderson Cancer Center” ในฐานะที่เป็น Sister Institute ร่วมกันพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทยให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

สิ่งสำคัญในการป้องกันโรคมะเร็ง คือ การงดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดและมะเร็งชนิดอื่น ๆ อีกหลายชนิดได้อย่างดีที่สุด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง