โรคมะเร็งปอด

โรคมะเร็งปอด


มะเร็งปอด

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ในผู้ป่วยมะเร็งที่เสียชีวิตทั้งหมด มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่สูงที่สุด ในปี ค.ศ. 2012 มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดทั่วโลก 1,590,000 คน ในประเทศไทย ปี ค.ศ. 2008 พบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยมะเร็งปอดถึง 8,403 ราย พบมะเร็งปอดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และมักพบในผู้สูงอายุมากกว่าผู้ที่มีอายุน้อย

โรคมะเร็งปอด

สาเหตุมะเร็งปอด

มะเร็งปอดเป็นเนื้องอกของปอดชนิดที่โตเร็ว ลุกลามสู่อวัยวะข้างเคียง และกระจายตัวไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้ เกิดขึ้นจากเซลล์ของเนื้อเยื่อในปอดแบ่งตัวเร็วผิดปกติจนควบคุมไม่ได้ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน

  • ปัจจัยภายนอก ได้แก่ สารก่อมะเร็งที่อยู่ในบุหรี่และมลภาวะต่าง ๆ ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ ซึ่งปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งที่ป้องกันได้
  • ปัจจัยภายใน ได้แก่ ความบกพร่องทางกรรมพันธุ์หรือความเสื่อมของเซลล์ ทำให้ไม่สามารถซ่อมแซมเซลล์ที่ผิดปกติได้

โดยปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงหลักของมะเร็งปอด ได้แก่ บุหรี่ ทั้งผู้สูบบุหรี่โดยตรงและผู้ที่ได้ควันบุหรี่โดยอ้อมจากควันบุหรี่จากผู้อื่น นอกจากนั้นพบว่าสารก่อมะเร็งอาจมาจากสภาวะแวดล้อมและการทำงาน ได้แก่ Radon และ Asbestos เป็นต้น

 

อาการมะเร็งปอด

ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด แต่ในกรณีที่โรคลุกลาม นอกจากอาการที่ปอดเองแล้ว อาการจะขึ้นกับอวัยวะที่โรคลุกลามไปถึง ซึ่งอาจเป็นอวัยวะข้างเคียงหรือบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายที่โรคกระจายไป อาการจะขึ้นกับบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากมะเร็งลุกลามไป เช่น กลุ่มอาการปวดไหล่ร้าวไปตามแขนร่วมกับหนังตาตก เหงื่อไม่ออกซีกเดียว กลุ่มอาการหน้าบวม คอบวม และนอนราบไม่ได้ กลุ่มอาการปวดศีรษะและอาเจียนพุ่ง และกลุ่มอาการปวดหลัง ควบคุมอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ และขาชาอ่อนแรง คลำพบก้อนที่บริเวณไหปลาร้า น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นต้น

 

วินิจฉัยมะเร็งปอด

การวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด เริ่มจากการซักประวัติและตรวจร่างกาย พิจารณาการตรวจเพิ่มเติมตามข้อบ่งชี้ ได้แก่ เอกซเรย์ปอด ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณทรวงอก หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าบริเวณทรวงอก เมื่อผลการตรวจภาพของปอดพบรอยโรคที่สงสัยมะเร็ง จะต้องมีการตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยด้วยผลทางพยาธิวิทยา (Pathology) ร่วมด้วยเสมอ

การนำตัวอย่างเซลล์ที่รอยโรคมาตรวจอาจทำได้โดยการส่องกล้องเข้าไปทางหลอดลม หรือโดยการใช้เข็มเจาะเข้าไปทางผนังช่องอกขึ้นกับความเหมาะสม การตรวจผลทางพยาธิวิทยาจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเซลล์ผิดปกติ นอกจากจะวินิจฉัยว่าเป็นเซลล์มะเร็งแล้ว ยังสามารถแยกชนิดของเซลล์มะเร็งได้ด้วย ซึ่งมะเร็งปอดจะแบ่งเป็นชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) และชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer)

เมื่อการวินิจฉัยมะเร็งปอดชัดเจนแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินการลุกลามของโรค หรือระยะของโรคมะเร็ง ได้แก่ การตรวจสแกนกระดูก การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง การตรวจ PET/CT Scan เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมกับสภาวะของโรค

อาการโรคมะเร็งปอด

รักษามะเร็งปอด

การรักษาโรคมะเร็งปอดแบ่งตามชนิดของมะเร็ง ได้แก่ ชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) และชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non – Small Cell Lung Cancer)

  • การรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก เป็นมะเร็งที่มีแนวโน้มที่จะกระจายตัวเร็ว ในขณะที่เซลล์ตอบสนองดีต่อเคมีบำบัด (Chemotherapy) และรังสีรักษา (Radiotherapy) การรักษาหลักจึงเป็นการรักษาด้วยเคมีบำบัด เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งทั้งที่บริเวณจุดเริ่มต้นและป้องกันไม่ให้เกิดการกระจายไปยังบริเวณอื่น ๆ และมีการรักษาเสริมด้วยรังสีรักษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมโรคเฉพาะที่ ซึ่งอาจให้การรักษาพร้อมกันทั้งเคมีบำบัดและรังสี (Chemoradiotherapy)  หรืออาจพิจารณาให้การรักษาต่อเนื่องกันแต่ไม่พร้อมกัน ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของโรค สภาพร่างกายของผู้ป่วย ความเห็นของแพทย์ และความยินยอมของผู้ป่วย
  • การรักษามะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก ในระยะเริ่มต้นที่โรคยังไม่ได้มีการลุกลามหรือยังไม่มีการกระจาย การรักษาหลักคือการผ่าตัด โดยอาจพิจารณาให้การรักษาเสริมด้วยเคมีบำบัด Targeted Therapy และรังสีรักษาตามข้อบ่งชี้ ส่วนในกรณีโรคลุกลามมากขึ้น มีความเสี่ยงที่โรคอาจจะกลับเป็นใหม่ได้ง่าย หรือเสี่ยงกับการกระจาย อาจเปลี่ยนการรักษาหลักเป็นการให้เคมีบำบัดพร้อมกับรังสีรักษา โดยอาจจะต้องพิจารณาการรักษาเสริม ได้แก่ Targeted Therapy ตามข้อบ่งชี้ ซึ่งทั้งหมดขึ้นกับระยะของโรคสภาพร่างกายของผู้ป่วย ความเห็นของแพทย์ และความยินยอมของผู้ป่วย

โรคมะเร็งปอด

สำหรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) คือ การรักษาด้วยยาซึ่งออกฤทธิ์ต่อต้านทำลายเซลล์มะเร็งที่ได้ผลครอบคลุมทั้งระบบ  ส่วนการรักษาแบบ Targeted Therapy คือ การรักษาด้วยยาเช่นกัน แต่ยาออกฤทธิ์ยับยั้งขัดขวางการเจริญเติบโตเฉพาะเซลล์มะเร็ง และรังสีรักษา (Radiotherapy) คือ การรักษาด้วยรังสี ซึ่งสามารถถ่ายทอดพลังงานออกมาทำลายเซลล์มะเร็งเฉพาะบริเวณที่ต้องการ

ในกรณีที่โรคมะเร็งปอดลุกลามมาก มีการกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ แล้ว หรือตัวผู้ป่วยเองมีสภาพร่างกายทั่วไปไม่แข็งแรง มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้ง่าย แนวทางการรักษาจะเน้นให้พิจารณาเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นหลัก การรักษาจะเป็นการรักษาที่ขึ้นกับสภาวะของโรค อาการ และความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัว หรือเรียกว่าการดูแลเพื่อบรรเทาอาการ (Palliative Care)

การรักษาโรคมะเร็งปอดควรจะเป็นการดูแลผู้ป่วยร่วมกันเป็นทีม ระหว่างทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์สาขาต่าง ๆ เพื่อการพิจารณาแนวทางการรักษาให้รอบด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวเป็นสำคัญ

 

โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ (Wattanosoth Hospital) เป็นโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งโดยเฉพาะ มีบริการครบวงจร ตั้งแต่การตรวจคัดกรอง การวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น (Screening and Early Detection Program) การรักษาโรคมะเร็งด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย (Hi – End Technology) และทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ (Multidisciplinary Team) และการดูแลบรรเทาอาการผู้ป่วยแบบครบองค์รวมที่เน้นคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว (Palliative Care Team)

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง