Lutetium-177 PSMA สารเภสัชรังสีเพิ่มโอกาสรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

Lutetium-177 PSMA สารเภสัชรังสีเพิ่มโอกาสรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก


ในปัจจุบันผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่อยู่ในระยะที่ 4 ซึ่งเซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น เช่น ต่อมน้ำเหลืองไกลจากบริเวณต่อมลูกหมาก กระดูก หรือตับ ที่ดื้อต่อการรักษาด้วยฮอร์โมน แม้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาด้วยสารเภสัชรังสี Lutetium-177 PSMA (Lu-177 labeled PSMA-targeted radioligand therapy) รวมกับการรักษาที่เป็นมาตรฐาน สามารถเพิ่มระยะเวลาที่ปลอดการก้าวหน้าของโรคจากภาพถ่ายทางรังสีวิทยา (imaged-based progress-free survival) และระยะเวลาการรอดชีวิตทั้งหมด (overall survival)


Lutetium-177 PSMA
คืออะไร

Lutetium-177 Prostate-Specific Membrane Antigen (Lu-177 PSMA) คือ สารเภสัชรังสีที่มีการจับรังสีนิวเคลียร์ Lu-177 ซึ่งสามารถแผ่รังสีเบต้า (beta-ray) เพื่อทำลายเซลล์และยังปล่อยรังสีแกมม่า (gamma ray) ซึ่งยังสามารถถ่ายภาพซึ่งจับกับ ligan ที่จับต่อกับ PSMA ซึ่งเป็นตัวรับ (Receptor) บนผิวเซลล์ โดยส่วนใหญ่ PSMA จะมีการแสดงออกที่มากขึ้นบนผิวเซลล์ของมะเร็งต่อมลูกชนิด adenocarcinoma ซึ่งพบว่ามีการแสดงที่เพิ่มขึ้นในมะเร็งที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น Lutetium-177 PSMA จะปล่อยรังสีเบต้าเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งในบริเวณนั้น เพื่อลดขนาดและหยุดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง ส่งผลให้อัตราการตอบสนองทาง biochemical และ ภาพถ่ายทางรังสี ลดความเจ็บปวดจากการที่มะเร็งต่อมลูกหมากลุกลามไปยังอวัยวะอื่น รวมทั้งอาจจะสามารถลดค่าบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) ของผู้ป่วยลงได้ นอกจากนี้ความเป็นพิษ (toxicity) ต่ำ


ข้อบ่งชี้และการพิจารณาการรักษาด้วย Lutetium-177 PSMA 

ในปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย Lutetium-177 PSMA ไม่ใช่การรักษาหลัก ซึ่งใช้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นที่ดื้อต่อการรักษาด้วยฮอร์โมนและมีการดำเนินโรคที่มากขึ้น ทั้งในกลุ่มที่เคยได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดแล้วหรือไม่เคยได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด โดยผู้ป่วยจะต้องมีการแสดงออกของ PSMA ที่มากเพียงพอจากการตรวจด้วย PSMA PET/CT การรักษาด้วย Lutetium-177 PSMA คือทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นและเพิ่มโอกาสระยะปลอดโรค โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะสามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้ทุก 6 สัปดาห์ จำนวน 4 – 6 ครั้ง


ขั้นตอนการรักษาด้วย Lutetium-177 PSMA เป็นอย่างไร

ในกระบวนการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากด้วย Lutetium-177 PSMA แพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งจะประเมินการรักษาผู้ป่วยตามเกณฑ์การรักษาอย่างละเอียด โดยผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องเพทซีทีสแกน (PSMA PET/CT Scan) เพื่อประเมินการแสดงออกของ PSMA รวมทั้งค่าเลือดที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษา ซึ่งขั้นตอนในการรักษาแพทย์จะทำการฉีดสาร Lutetium-177 PSMA ทางหลอดเลือดดำ แล้วรอดูอาการข้างเคียงประมาณ 2  ชั่วโมง หากไม่มีอาการข้างเคียง ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ และทำการถ่ายภาพในวันรุ่งขึ้นเพื่อทราบบริเวณรังสีที่มีการจับของ Lutetium-177 PSMA และหลังการรักษาจะต้องพบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อตรวจร่างกายและดูการตอบสนองต่อการรักษาเป็นระยะ


ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วย Lutetium-177 PSMA 

หลังการรักษาด้วย Lutetium-177 PSMA ผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากบางรายอาจพบอาการข้างเคียง ซึ่งผลข้างเคียงที่สามารถพบได้บ่อย เช่น 

  • อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้ 
  • อาเจียน
  • ปากแห้ง
  • ลดความอยากอาหาร
  • ลดการสร้างการทำงานของไขกระดูก เช่น ซีด ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำหรือเกล็ดเลือดต่ำ

Lutetium-177 PSMA สารเภสัชรังสีเพิ่มโอกาสรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

ประโยชน์ของ Lutetium-177 PSMA คืออะไร

ข้อดีของ Lutetium-177 PSMA ที่ใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นที่ดื้อต่อการรักษาด้วยฮอร์โมนและมีการดำเนินโรคที่มากขึ้น แม้ว่าได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดแล้ว มีข้อมูลว่าอาจจะมีประโยชน์ต่อผู้ที่อาจจะไม่สามารถได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดชนิด docetaxel. โดยมีการศึกษาที่พบว่าคนไข้ที่รับการรักษาด้วย Lu-177 PSMA อาจจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า สามารถทนต่อการรรักษาได้มากกว่า และเพิ่มการตอบสนองต่อการรักษาได้มากกว่าการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด2-4


ข้อห้ามของการรักษาด้วย Lutetium-177 PSMA

ไม่มีข้อห้ามสัมบูรณ์ (absolute contraindication) สำหรับการรักษาด้วยวิธีนี้ แต่อาจจะมีเพียงข้อห้ามสัมพัทธ์ (Relative contraindication) ที่อาจะต้องนำมาพิจารณาและอาจจะให้การรักษา Lu-177 PSMA ได้หลังจากที่แก้ไขภาวะเหล่านี้เรียบร้อยแล้ว เช่น ผู้ป่วยที่ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ มีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ หรือการกดการทำงานของไขกระดูก นอกจากนี้จะต้องพิจารณาในผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำการแยกตัว มีโรคหรือภาวะอื่นร่วม ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในผู้ป่วยแต่ละราย รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะสุดท้ายที่อาจมีชีวิตอยู่ต่อได้ไม่เกิน 3 เดือน อาจไม่เหมาะกับการรักษาด้วย Lutetium-177 PSMA แต่ควรดูแลรักษาแบบประคับประคองเป็นสำคัญ

การตอบสนองต่อ Lutetium-177 PSMA ในผู้ป่วยแต่ละคนต่างกัน แพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งจะเป็นผู้ประเมินการรักษา โดยปัจจุบันพบว่ามีบางปัจจัยอาจจะพบว่าเกี่ยวข้องกับการตอบสนองที่ไม่ดี เช่น ผู้ป่วยที่ตัวโรคมาก การจับของ FDG PET/CT ปริมาณมาก  มีค่า PSA สูง หรือ มีค่า PSA เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในระยะเวลาที่สั้น เป็นต้น


แพทย์ที่ชำนาญการด้านการใช้สารเภสัชรังสีเพื่อรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

ผศ.พญ.อุษณี เตชะวิจิตร์ แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ และรังสีวินิจฉัยมะเร็ง โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ

สามารถคลิกที่นี่เพื่อทำนัดหมายได้ด้วยตนเอง


โรงพยาบาลที่ชำนาญด้านการดูแลรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ พร้อมให้การดูแลรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งที่มีความชำนาญ พร้อมทีมสหสาขา และเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อดูแลผู้ป่วยให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง


References:

  1. Kratochwil C, Fendler WP, Eiber M, et al. Joint EANM/SNMMI procedure guideline for the use of 177Lu-labeled PSMA-targeted radioligand-therapy (177Lu-PSMA-RLT). Eur J Nucl Med Mol Imaging.2023; 50:2830-45.
  2. Stapathy S, Mittal BR, Sood A, et al. Lu-177 PSMA-617 versus docetaxel in chemotherapy-naïve metastatic castration-resistant prostate cancer: A inferiority trial. Eur J Nucl Med Mol Imaging.2022;49(5):1754-64.
  3. Ahmadzadehfar H, Rahbar K, Baum RP, et al. Prior therapies as prognostic factors of overall survival in metastatic castration-resistant prostate cancer patients treated with (177Lu) Lu-PSAM-617 A WARMTH multicenter study (the 617. Trial). Eur J Nucl Med Mol Imaging.2021;48(1):113-22.
  4. Barber TW Singh A, Kulkarni HR, et al. Clinical outcomes of Lu-177 PSMA radioligand therapy in earlier and later phases of metastatic castration-resistant prostate cancer grouped by previous taxane chemotherapy. J Nucl Med. 2019;60(7):955-62.

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง