มะเร็งผิวหนังดูแลจัดการได้

มะเร็งผิวหนังดูแลจัดการได้


มะเร็งผิวหนัง คือ เซลล์ผิวหนังที่เติบโตผิดปกติและควบคุมไม่ได้ โดยสามารถแบ่งเป็น 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ มะเร็งเบเซลเซลล์ มะเร็งสเควมัสเซลล์ และมะเร็งเมลาโนมา

มะเร็งเบเซลเซลล์

มะเร็งเบเซลเซลล์ (Basal Cell Carcinoma หรือ BCC) เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบบ่อยที่สุด กว่า 80% ของผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังจะเป็นมะเร็งชนิดนี้ มักปรากฏบนผิวหนังที่โดนแดดบ่อย ๆ เช่น ใบหน้า ลำคอ และมือ มะเร็งชนิดนี้เติบโตช้าและไม่ค่อยกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

ลักษณะและอาการมะเร็งเบเซลเซลล์

  • ตุ่มสีขุ่นมันวาวคล้ายไข่มุก อาจมีเลือดซึมออกมา หรือเป็นก้อนแข็ง
  • รอยโรคเหมือนแผลเป็นแบน ๆ สีเนื้อหรือสีน้ำตาล
  • แผลที่มีเลือดออกหรือแผลพุพองที่หายแล้วแต่กลับมาเป็นอีก
  • ก้อนเนื้อสีชมพูที่มีขอบนูนและเป็นรอยบุ๋มเป็นเกล็ดขรุขระตรงกลาง
  • ตุ่มใส ๆ สีชมพู หรือเป็นมันเงามีเส้นเลือดเล็ก ๆ อยู่บนพื้นผิว
  • รอยโรคสีขาวมันวาวเหมือนแผลเป็น ไม่มีเส้นขอบที่ชัดเจน

มะเร็งผิวหนังดูแลจัดการได้ 

มะเร็งสเควมัสเซลล์

มะเร็งสเควมัสเซลล์ (Squamous Cell Carcinoma หรือ SCC) เป็นมะเร็งผิวหนังที่พบมากเป็นอันดับที่ 2 มักปรากฏบนผิวหนังบริเวณที่โดนแสงแดดเหมือนกัน แต่สามารถพัฒนาไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ สเควมัสเซลล์สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีความเสี่ยงในการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายมากกว่ามะเร็งเบเซลเซลล์

ลักษณะและอาการมะเร็งสเควมัสเซลล์

  • สะเก็ดบนผิว ซึ่งอาจมีผิวขรุขระหรือมีเลือดออก
  • ก้อนแข็ง ๆ บนผิวหนังที่อาจมีลักษณะขรุขระ
  • แผลที่เป็นแล้วไม่หาย หรือหายแล้วกลับมาเป็นอีก
  • แผลตกสะเก็ดที่อาจมีสะเก็ดแข็งหรือขรุขระ
  • ลักษณะคล้ายหูดที่มีผิวรอบนอกแข็งและมีเลือดออก
  • ก้อนนูนที่ตรงกลางบุ๋ม อาจมีเลือดออกหรือผิวขรุขระ

ขั้นตอนการตรวจมะเร็งเบเซลเซลล์และมะเร็งสเควมัสเซลล์

การตรวจหารอยโรคมะเร็งเบเซลเซลล์และมะเร็งสเควมัสเซลล์ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้ 

  • การตรวจผิวหนังที่มีการผิดปกติโดยแพทย์ผิวหนัง
  • การตรวจชิ้นเนื้อผิวหนังโดยการตัดเนื้อเยื่อผิวหนังบางส่วนออกไปเพื่อส่องกล้องจุลทรรศน์ตรวจหาเซลล์มะเร็ง
  • การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อาทิ X-rays, CT Scan และ MRI เพื่อตรวจหาการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะใกล้เคียงอื่น ๆ

รักษามะเร็งเบเซลเซลล์และมะเร็งสเควมัสเซลล์

โรคมะเร็งเบเซลเซลล์และมะเร็งสเควมัสเซลล์ขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่ง และความลึกของก้อนเนื้อ รวมถึงอายุ สุขภาพ ความชอบส่วนตัวของผู้ป่วย และพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย วิธีการรักษามีดังต่อไปนี้

  • การขูดและจี้ด้วยไฟฟ้า: ขั้นตอนการทำหัตถการด้วยเครื่องมือขูดเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งออก โดยจี้ด้วยเข็มไฟฟ้าเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งให้หมด
  • การผ่าตัดชิ้นเนื้อ: ก้อนเนื้อและผิวหนังโดยรอบจะถูกตัดออก แพทย์สามารถให้ยาชาเฉพาะที่และผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาล
  • การผ่าตัดแบบ Mohs (Mohs Surgery): เทคนิคการผ่าตัดเฉพาะทางโดยการนำเอาเนื้องอกออกทีละชั้น ๆ เพื่อตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์จนไม่เหลือเซลล์มะเร็ง
  • การรักษาด้วยความเย็น: การจี้เย็นเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งด้วยไนโตรเจนเหลว
  • การใช้ยาทา: สำหรับมะเร็งเบเซลเซลล์ที่ไม่รุนแรงสามารถรักษาได้ด้วยยาทา เช่น imiquimod และ 5-fluorouracil หรือการฉายแสงเพื่อการบำบัด
  • รังสีรักษา: การรักษาโรคโดยการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเนื้อเยื่อเซลล์มะเร็งหรือทำให้ฝ่อลง
  • เคมีบำบัด: การใช้ยาฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจทำควบคู่กับรังสีรักษา

โรคมะเร็งเบเซลเซลล์และมะเร็งสเควมัสเซลล์สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่รักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม หากมะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่น ๆ แล้ว อาจจำเป็นต้องใช้แผนรักษาที่เข้มข้นขึ้น เช่น รังสีรักษาหรือเคมีบำบัด 

การพยากรณ์ผลการรักษาโรคมะเร็งเบเซลเซลล์และมะเร็งสเควมัสเซลล์

โดยทั่วไปแล้วทั้งโรคมะเร็งเบเซลเซลล์และมะเร็งสเควมัสเซลล์หากตรวจพบเร็วและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมมักจะได้ผลลัพธ์ที่ดี อัตราการรอดชีวิตใน 5 ปีสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งสเควมัสเซลล์ และโรคมะเร็งเบเซลเซลล์ที่ไม่ได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นอยู่ที่ประมาณ 95% และ 99% ตามลำดับ หากมะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ การพยากรณ์โรคอาจไม่ได้ผลที่น่าพอใจ


มะเร็งผิวหนังดูแลจัดการได้ 

มะเร็งเมลาโนมา

มะเร็งเมลาโนมา (Malignant Melanoma) เป็นโรคที่รุนแรงที่สุดของมะเร็งผิวหนัง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนในร่างกายรวมถึงบริเวณที่ไม่ได้โดนแดด มะเร็งเมลาโนมาสามารถขยายตัวได้รวดเร็วและมีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

ลักษณะและอาการของมะเร็งเมลาโนมา

  • ไฝที่เปลี่ยนขนาด รูปร่าง หรือสี
  • ไฝที่เกิดขึ้นใหม่และใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • ไฝหรือปื้นบนผิวหนังที่มีรูปร่างผิดปกติ
  • ไฝที่มีเส้นขอบขรุขระหรือสีไม่สม่ำเสมอ
  • ไฝที่รูปร่างผิดปกติโดยสองข้างไม่เท่ากัน
  • ชไฝที่มีอาการคัน เลือดออก และรู้สึกเจ็บ
  • ชเล็บที่มีรอยคล้ำ สีดำ หรือสีน้ำตาล
  • ชแผลที่รักษาไม่หาย

ขั้นตอนการตรวจมะเร็งเมลาโนมา

การตรวจหารอยโรคมะเร็งเมลาโนมา มีขั้นตอนดังต่อไปนี้ 

  • การตรวจผิวหนังที่มีการผิดปกติโดยแพทย์ผิวหนัง
  • การตรวจชิ้นเนื้อผิวหนังโดยตัดเนื้อเยื่อผิวหนังบางส่วนออกไปเพื่อส่องกล้องจุลทรรศน์ตรวจหาเซลล์มะเร็ง
  • การตัดต่อมน้ำเหลืองใกล้บริเวณที่เป็นมะเร็งเพื่อตรวจหาการแพร่การจายของมะเร็ง
  • การตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อาทิ X-rays, PET CT Scan และ MRI เพื่อตรวจหารอยโรคในส่วนอื่นของร่างกาย

การตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลเพื่อตรวจสอบ (Sentinel Lymph Node Biopsy หรือ SLNB) 

เป็นขั้นตอนการวินิจฉัยเพื่อตรวจว่ามะเร็งผิวหนังได้แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงหรือไม่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดระยะของมะเร็งและเป็นแนวทางในการเลือกวิธีการรักษา SLNB เป็นต่อมน้ำเหลืองแรกที่อยู่ใกล้กับตำแหน่งที่เป็นมะเร็ง และมักจะเป็นขั้นตอนที่แพทย์แนะนำสำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะลุกลาม หรือมีก้อนเนื้องอกที่หนามากกว่า 1 มิลลิเมตร เนื่องจากมีโอกาสที่จะแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้เคียง

หากพบมะเร็งในต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลอาจมีการตัดต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงเพิ่มเพื่อตรวจสอบ และแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยทำเคมีบำบัด ภูมิคุ้มกันบำบัด หรือรังสีรักษาอีกด้วย

ขั้นตอนการตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนลเพื่อตรวจสอบจะใช้ยาชาและฉีดสารกัมมันตรังสี (Radioactive Tracer) และ/หรือ ฉีดสี (Blue Dye) ไปที่บริเวณใกล้เคียงกับที่เป็นก้อนเนื้อ เพื่อหาต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล และตัดออกเพื่อมาตรวจหาเซลล์มะเร็งโดยนักพยาธิวิทยา


มะเร็งผิวหนังดูแลจัดการได้ 

รักษามะเร็งเมลาโนมา

  • ผ่าตัด: โดยการตัดก้อนเนื้อและเนื้อเยื่อโดยรอบออก ในคนไข้บางรายอาจจำเป็นต้องปลูกถ่ายผิวหนังเพื่อปิดแผล
  • การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล: การตัดต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ก้อนเนื้อเพื่อตรวจหาการแพร่กระจายของมะเร็ง
  • การผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลือง: หากมีเซลล์มะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล แพทย์อาจจำเป็นต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงออกเพิ่มเติม
  • การรักษาแบบมุ่งเป้า: การใช้ยามุ่งเป้าเพื่อยับยั้งการเติบโตของมะเร็งผิวหนังบางชนิดได้
  • ภูมิคุ้มกันบำบัด: การใช้ยาที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ต่อสู้กับมะเร็งอาจนำมาใช้เสริมหลังการผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยงการเป็นซ้ำ หรือใช้เป็นวิธีรักษาเริ่มต้นของมะเร็งผิวหนังระยะที่ 4
  • รังสีรักษา: การรักษาโรคโดยการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเนื้อเยื่อเซลล์มะเร็งหรือทำให้ฝ่อลง วิธีนี้อาจนำมาใช้ในผู้ป่วยที่มะเร็งแพร่กระจายไปส่วนอื่นของร่างกาย หรือในการรักษาแบบประคับประคอง

แผนการรักษาเป็นแผนเฉพาะแต่ละบุคคล ซึ่งอาจเป็นการผสมผสานการรักษาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระยะหรือขั้นของมะเร็ง สุขภาพ และปัจจัยอื่นๆ ผู้ป่วยควรปรึกษาทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ อาทิ แพทย์ผิวหนัง ศัลยแพทย์และอายุรแพทย์มะเร็งวิทยา เพื่อจัดทำแผนการรักษาเฉพาะบุคคล

การพยากรณ์ผลการรักษาโรคมะเร็งเมลาโนมา

อัตราการรอดชีวิตของมะเร็งชนิดนี้ค่อนข้างดีสำหรับผู้ที่เป็นระยะเริ่มต้นและลดลงหากเป็นระยะลุกลาม สมาคมมะเร็งแห่งอเมริกาให้ข้อมูลอัตราการรอดชีวิตภายใน 5 ปีของมะเร็งผิวหนังตามระยะของการเป็นมะเร็งหลังจากตรวจพบไว้ดังนี้

  • ระยะที่ 0 หรือระยะเริ่มต้น: อัตราการรอดชีวิตเกือบ 100%
  • ระยะที่ 1: อัตราการรอดชีวิต 95 – 100%
  • ระยะที่ 2: อัตราการรอดชีวิต 80 – 90% 
  • ระยะที่ 3: อัตราการรอดชีวิต 40 – 70%
  • ระยะที่ 4: อัตราการรอดชีวิต 15 – 20%

อัตราการรอดชีวิตเหล่านี้เป็นเพียงค่าเฉลี่ย การพยากรณ์โรคของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย


มะเร็งผิวหนังดูแลจัดการได้ 

ป้องกันโรคมะเร็งผิวหนัง

การป้องกันโรคมะเร็งผิวหนังเป็นการป้องกันผิวหนังจากรังสี UV ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งผิวหนัง โดยมีวิธีป้องกันดังต่อไปนี้

  1. หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดด: ป้องกันการถูกแสงแดดเผาด้วยการอยู่ในร่ม ใส่อุปกรณ์ป้องกันแดด อาทิ หมวกและเสื้อแขนยาว ใช้ครีมกันแดดที่มีประสิทธิภาพป้องกันได้ทั้งรังสี UVA และ UVB และมี SPF 30 เป็นอย่างต่ำ
  2. จำกัดเวลาการโดนแสงแดด: โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่แดดแรงที่สุด (ช่วง 10.00 . และ 16.00 .)
  3. หมั่นตรวจดูผิว: ตรวจดูสภาพผิวด้วยตัวเอง โดยดูให้ละเอียดว่ามีไฝหรือก้อนเนื้อแปลก ๆ หรือไม่ ถ้าพบความผิดปกติไม่ว่าจะเป็นขนาด รูปร่าง สี หรือเนื้อสัมผัสที่น่าสงสัยควรรีบปรึกษาแพทย์ผิวหนังทันที
  4. หลีกเลี่ยงการอาบแดด: การใช้เตียงอาบแดด (Tanning Bed) จะทำให้ผิวหนังได้รับรังสี UV ที่เป็นอันตราย และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนังจึงไม่ควรใช้เป็นอย่างยิ่ง
  5. ปกป้องลูกของคุณจากการโดนแสงแดด: ป้องกันลูก ๆ จากแสงแดดด้วยการใช้ครีมกันแดด หมวก และเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ป้องกันแดดอื่น ๆ และจำกัดเวลาการเล่นที่ออกแดด
  6. ตรวจประวัติสมาชิกในครอบครัว: หากมีสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งผิวหนัง คุณอาจมีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษในการปกป้องผิวของคุณ 
  7. เลิกสูบบุหรี่: การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนัง จึงควรเลิกสูบเพื่อลดความเสี่ยง

การป้องกันเป็นปัจจัยสำคัญของมะเร็งผิวหนังจึงควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันตัวเองและลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนัง

นอกจากนี้การตรวจพบมะเร็งผิวหนังและรักษาแต่เนิ่น ๆ จะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า แนะนำให้แพทย์ผิวหนังตรวจเช็กผิวหนังคุณเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีประวัติมะเร็งผิวหนังในครอบครัวหรือเคยถูกแดดเผาซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง