เทคโนโลยีการตรวจหามะเร็งด้วยเครื่อง PET-CT Scan
ปัจจุบันการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีทำให้การแพทย์สมัยใหม่มีเครื่องมือที่ใช้สำหรับการวินิจฉัยและรักษาโรคใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้ผลการรักษาโรคของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างมาก ลดอัตราการเสียชีวิตและความทุพพลภาพได้
ตรวจวินิจฉัยรักษาให้เหมาะสม
สำหรับความเจ็บป่วยของประชาชน 3 อันดับแรกที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ มะเร็ง อุบัติเหตุ และโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมะเร็งครองอันดับ 1 มาหลายปีแล้ว เมื่อผู้ป่วยเป็นมะเร็ง ก่อนที่จะได้รับการรักษา การวินิจฉัยโรคเป็นสิ่งที่สำคัญมาก จำเป็นจะต้องมีการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องชัดเจน โดยเริ่มที่การกำหนดระยะโรค (Staging) เพราะการกำหนดระยะที่คลาดเคลื่อนจะทำให้การรักษาตามมาผิดพลาดตามไปด้วย ในระหว่างการรักษาจำเป็นต้องมีการตรวจที่สามารถใช้เป็นมาตรวัดผลการรักษาที่ดี เนื่องจากโรคและการรักษาที่แพทย์ให้อาจให้ผลที่แตกต่างกันได้อย่างมาก
ในผู้ป่วยต่างคน มาตรวัดที่ดีสามารถประเมินและทำนายผลการรักษาได้ดี ช่วยให้แพทย์สามารถเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม และให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยในเรื่องผลการรักษาได้อย่างสูง ปัจจุบันมะเร็งถูกมองว่าเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งหมายความว่า หลังการรักษาผู้ป่วยจำนวนมากยังคงสามารถดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติสุข
อย่างไรก็ตามมะเร็งสามารถกลับมาเป็นอีกได้ ดังนั้นหลังการรักษาเสร็จสิ้น การประเมินตรวจค้นหาการกลับเป็นซ้ำของโรค จึงเป็นสิ่งจำเป็น มะเร็งที่กลับเป็นซ้ำ (Recurrent Tumor) ถ้าถูกตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ๆ ผลสำเร็จของการรักษาก็ย่อมสูง
PET-CT Scan ตรวจค้นมะเร็ง
เทคโนโลยีทางด้านรังสีวิทยาซึ่งนำมาใช้ในการตรวจผู้ป่วยมะเร็ง ได้แก่ เครื่อง PET-CT ซึ่งสามารถกำหนดระยะโรคได้อย่างถูกต้อง สามารถใช้เป็นมาตรวัดการรักษา และตรวจพบการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งได้เป็นอย่างดี แพทย์สามารถใช้ PET-CT Scan ในผู้ป่วยมะเร็งได้ครบทุกรายละเอียด โดยสามารถใช้ได้กับมะเร็งชนิดก้อน (Solid Tumor) ได้เกือบทุกชนิด ยกเว้นมะเร็งบางอย่าง เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น
PET-CT ประกอบด้วยการตรวจด้านรังสี 2 ชนิดในเครื่องเดียว ถึงจะทำการตรวจผู้ป่วยในเวลาเดียวกัน ทำให้ได้ผลการตรวจเป็น 3 ชุด อันได้แก่ ภาพ PET Scan, ภาพ CT Scan และภาพรวมของทั้งสองชนิดคือ PET-CT Scan
กระบวนการตรวจ PET Scan เริ่มต้นด้วยการฉีดสารเภสัชรังสีให้แก่ผู้ป่วย สารเภสัชรังสีที่ใช้มีหลายชนิด ใช้ตรวจกับมะเร็งชนิดต่างชนิดกัน แต่มะเร็งกว่าร้อยละ 90 จะใช้สารเภสัชรังสี FDG ซึ่งเป็นอนุพันธ์ของน้ำตาลกลูโคสและเปล่งรังสี Positron ออกมา โดยน้ำตาล FDG จะกระจายอยู่ในเนื้อเยื่อเกือบทุกชนิดในร่างกาย และจะเข้มข้นมากในมะเร็งชนิดก้อน และเมื่อผู้ป่วยได้รับการตรวจด้วยเครื่อง PET Scan จะถ่ายภาพการกระจายตัวของรังสีที่กระจายอยู่ทั่วร่างกายของผู้ป่วย โดยอาณาเขตการตรวจที่เป็นมาตรฐานจะเริ่มจากฐานกะโหลกลงไปสุดอุ้งเชิงกราน ซึ่งการกระจายตัวของมะเร็งมักจะอยู่ในขอบเขตนี้ PET Scan เป็นการตรวจในระดับชีวเคมีในร่างกาย ซึ่งมีความไวสูงมาก ภาพที่ปรากฏไม่สามารถกำหนดตำแหน่งของตัวโรคในร่างกายได้อย่างชัดเจน การถ่ายภาพ CT Scan ในเวลาเดียวกัน แล้วนำภาพของทั้งสองมารวมกัน ทำให้เห็นถึงข้อดีของการตรวจทั้งสองแบบ ได้แก่ ความไวในการตรวจพบโรคที่สูงโดยสามารถกำหนดตำแหน่งตัวโรคได้ถูกต้องและชัดเจนจากภาพ CT Scan
ทั้งนี้มีการศึกษาพบว่า หลังการตรวจด้วย PET-CT Scan แพทย์ผู้ให้การรักษาจะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการรักษาประมาณ 35% (ประมาณ 1 ใน 3) เมื่อเทียบกับการตรวจอื่น เนื่องจากได้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น สิ่งนี้ทำให้ PET/CT เป็นเครื่องมือที่สามารถตอบโจทย์การรักษาโรคมะเร็งในเรื่องการวินิจฉัย กำหนดระยะโรค การจัดการรักษา และการตรวจการกลับมาเป็นซ้ำ
นอกการใช้ PET/CT สำหรับกลุ่มโรคมะเร็งแล้ว แพทย์ยังสามารถใช้ PET Scan ในการรักษาโรคทางระบบประสาทได้อย่างดีในหลายโรค ได้แก่ โรคในกลุ่มหลงลืม (Dementia โดยเฉพาะ Alzheimer) การกำหนดตำแหน่งของต้นเหตุโรคลมชัก โดยใช้สาร FDG เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สารเภสัชรังสีที่มีอยู่อีกมากมายสามารถนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคอื่น ๆ ได้อีก เช่น สาร FDOPA สามารถนำมาใช้ในการตรวจโรค Parkinson ได้ C11-PIB เป็นสารเภสัชรังสีที่ค่อนข้างเฉพาะต่อ Alzheimer เป็นต้น
ที่มาข้อมูล:
http://www.nccn.org/professionals/physician_gls/f_guidelines.asp
http://www.snmmi.org/NewsPublications/NewsDetail.aspx?ItemNumber=13252