จับตา 5 มะเร็งยอดฮิต ก่อนคุกคามชีวิตผู้ชายใกล้ตัว

จับตา 5 มะเร็งยอดฮิต ก่อนคุกคามชีวิตผู้ชายใกล้ตัว


โรคมะเร็งครองแชมป์อัตราการเสียชีวิตของผู้ชายไทยมายาวนาน จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้รายละเอียดของอุบัติการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยว่า เพิ่มจำนวนมากขึ้น มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เฉลี่ย 1.2 แสนคนต่อปี เพราะพฤติกรรมต่าง ๆ ที่คอยทำร้ายสุขภาพคุณสุภาพบุรุษทั้งแบบรู้ตัว (แต่ยังทำ) และแบบไม่รู้ตัว เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ อ้วนลงพุง ขาดการออกกำลังกาย เครียด และนอนดึก ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งต่าง ๆ ซึ่ง 5 โรคมะเร็งยอดฮิตที่พบบ่อยในผู้ชายคือสิ่งที่คุณผู้ชายควรรู้และใส่ใจระวังป้องกันก่อนเกิดโรค

 

1) มะเร็งปอด

ปัจจุบันโรคมะเร็งกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวของคนเรามากขึ้น โดยอัตราการเกิดของโรคเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนน่าตกใจ และโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในเพศชายคือ โรคมะเร็งปอด ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของผู้ชายทั่วโลก ซึ่งสาเหตุหลักของการเกิดโรคเป็นที่รู้กันดีว่ามาจากการสูบบุหรี่ โดยปัจจุบันพบว่า 1 ใน 10 ของผู้สูบบุหรี่จะเป็นโรคมะเร็ง และ 1 ใน 6 คนที่สูบติดต่อกันจะพบว่าส่วนใหญ่เป็นมะเร็งปอด และ 85% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเกิดจากสารมีพิษในบุหรี่ คือ “ทาร์” โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่จัดเป็นเวลานาน ซึ่งมักมีอาการนำ คือ ไอ บางครั้งอาจมีเลือดปนออกมา หายใจสั้นลง เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อยง่ายกว่าปกติ หายใจลำบาก เจ็บบริเวณทรวงอก น้ำหนักลดมากกว่าปกติ มีไข้เรื้อรัง อาจมีสาเหตุจากมะเร็งปอดได้

ในกรณีที่โรคลุกลาม นอกจากอาการที่ปอดแล้ว อาการจะขึ้นกับอวัยวะที่โรคลุกลามไปถึง ซึ่งอาจเป็นอวัยวะข้างเคียง หรือบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายที่โรคกระจายไป เป็นต้น การตรวจพบมะเร็งปอดในระยะแรกเริ่มจึงมีโอกาสรักษาหายได้ โดยมะเร็งปอดเป็นเนื้องอกของปอดชนิดที่โตเร็ว ลุกลามสู่อวัยวะข้างเคียง และกระจายตัวไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้ เกิดขึ้นจากเซลล์ของเนื้อเยื่อในปอดแบ่งตัวเร็วผิดปกติจนควบคุมไม่ได้ ซึ่งนอกจากบุหรี่แล้วอาจมีสาเหตุจากปัจจัยภายนอกอื่น ได้แก่ มลภาวะต่าง ๆ อยู่ในสิ่งแวดล้อม กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ และจากปัจจัยภายใน ได้แก่ ความบกพร่องทางกรรมพันธุ์หรือความเสื่อมของเซลล์ ทำให้ไม่สามารถซ่อมแซมเซลล์ที่ผิดปกติได้

 

2) มะเร็งต่อมลูกหมาก

โรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในเพศชายอีกหนึ่งชนิดคือ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก จากสถิติอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากถือเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอด ซึ่งโรคนี้มักพบในเพศชายอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยล่าสุดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2557 เท่ากับ 29,480 คน อัตราการเสียชีวิตของมะเร็งต่อมลูกหมากที่น้อยกว่าอาจเนื่องด้วยเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากมีการกระจายตัวช้ากว่า รวมทั้งการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากที่ทำให้วินิจฉัยมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ทำให้ผลการรักษาดีขึ้น ผู้ป่วยมักมาปรึกษาแพทย์ด้วยอาการปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะมีเลือดปน

ส่วนใหญ่ในระยะแรก ๆ มักไม่แสดงอาการ หรืออาจจะมีอาการคล้ายโรคต่อมลูกหมากโต รวมทั้งปัสสาวะหรือน้ำอสุจิมีเลือดปน มะเร็งในระยะต้นสามารถตรวจพบได้เมื่อแพทย์ตรวจร่างกาย โดยสวมถุงมือคลำต่อมลูกหมากผ่านทางช่องทวารหนัก เมื่อมีการตรวจเช็กสุขภาพประจำปีและหรือตรวจเลือดร่วมด้วย เพื่อหาระดับของค่า PSA เอนไซม์ต่อมลูกหมาก ในปัจจุบันสามารถตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากได้เร็วขึ้นจากการตรวจคัดกรองด้วยการใช้นิ้วคลำทางทวาร และการตรวจหาสาร PSA ในเลือด โดยแนะนำให้ตรวจในผู้ชายอายุประมาณ 45 – 50 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่อายุน้อย

 

3) มะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่ถูกจัดเป็นมะเร็งที่พบมากในผู้ชาย โดยผู้ชายจะมีโอกาสเสี่ยงพบมากขึ้นเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป กลุ่มเสี่ยงสูงคือ บุคคลที่มีประวัติครอบครัวใกล้ชิดเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น บิดามารดา พี่น้องหรือบุตร มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งชนิดนี้ประมาณ 2/3 ของประชากรปกติ แต่ในความจริงแล้วกลับพบว่าประมาณ 80% ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ใหม่ไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

ลำไส้ส่วนปลายเป็นท่อกลวงยาวประมาณ 5 – 6 ฟุต ท่อความยาว 5 ฟุตแรกคือส่วนของลำไส้ใหญ่และต่อกับลำไส้ตรงที่ยาวประมาณ 6 นิ้ว ส่วนต่อจากลำไส้ตรงคือทวารหนัก หน้าที่ของลำไส้ใหญ่คือ แปรของเสียเหลวให้เป็นอุจจาระแข็ง อาหารจะใช้เวลาเดินทางมาสู่ลำไส้ใหญ่ประมาณ 3 – 8 ชั่วโมงหลังจากรับประทานอาหาร ช่วงเวลานี้สารอาหารจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ส่วนที่ไม่ถูกดูดซึมจะเป็นของเสียเหลว

ปัจจัยในการดำรงชีวิตอาจทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ รับประทานอาหารมันและเนื้อแดงมาก แต่รับประทานผักและผลไม้น้อย รับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง ออกกำลังกายน้อย และโรคอ้วน การสูบบุหรี่และดื่มสุราจัดอาจมีผลต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในระยะแรกผู้ป่วยอาจไม่แสดงอาการเลือดออกทางทวารหนัก หรืออุจจาระปนเลือด หรือถ่ายเป็นเลือดอุจจาระมีรูปร่างเปลี่ยนไป (เป็นเส้นเล็กลง) ปวดเกร็งในท้อง มะเร็งลำไส้ตรงส่วนใหญ่มักแสดงอาการต่างจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ อาการดังกล่าวคือ อุจจาระปนเลือด, ท้องผูกสลับกับท้องเดินอย่างไม่มีสาเหตุ, ขนาดของเส้นอุจจาระเปลี่ยนไป และปวดเบ่ง คืออาการรู้สึกปวดถ่ายในขณะที่ไม่มีอุจจาระหรือไม่สามารถขับถ่ายออกได้ ถ้าก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้นอาจไปเบียดอวัยวะข้างเคียงอาจก่อให้เกิดอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือปวด เนื่องจากมีการกดทับที่ก้นหรือฝีเย็บ หากมีอาการดังกล่าวควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

 

4) มะเร็งตับ

โรคมะเร็งตับเป็นอีกโรคยอดฮิตสำหรับคุณผู้ชายทั้งหลาย สมัยก่อนเราจะได้ยินว่า หากกินเหล้ามาก ๆ จะเป็นตับแข็ง แล้วยังเชื่อว่าเป็นตับแข็งแล้วจะเป็นมะเร็งตับ หรือบางคนกลับเข้าใจไปว่าเป็นโรคเดียวกันด้วยซ้ำไป ปัจจุบันคนไทยอาจดื่มเหล้าลดลง ทำให้คนที่เป็นโรคตับแข็งจากการดื่มเหล้าพบได้น้อยลงไปด้วย แต่เมื่อไม่นานมานี้พบว่า คนไข้คนหนึ่งที่ตับอักเสบจากการกินยาดอง หรืออาหารหมักดองเกือบทุกวัน จนกระทั่งมีตับแข็งระยะเริ่มต้น และตรวจพบก้อนเนื้อที่อาจเป็นมะเร็งตับ ซึ่งจะเห็นได้ว่า แม้เราไม่ได้กินเหล้า แต่หากกินอาหารที่มีส่วนผสมของเหล้าหรือแอลกอฮอล์ติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้ตับทำงานหนักทุกวันจนเป็นตับแข็งและมะเร็งได้ แต่สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือ การที่เราเป็นโรคตับอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เช่น ชนิด B และชนิด C (B พบได้บ่อยกว่า) ส่วนมากมักได้รับเชื้อจากคุณแม่ตั้งแต่แรกคลอด หรืออาจติดจากสามี – ภรรยา

ในสมัยก่อนที่การบริจาคเลือดไมได้มีการตรวจสอบเชื้อได้ดีอย่างในปัจจุบัน ทำให้มีเลือดของผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบติดต่อกันจากการให้เลือดได้ แต่ในปัจจุบันสามารถคัดกรองได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นอาจจะพอสังเกตได้ว่า ไวรัสตับอักเสบ B และ C สามารถติดต่อได้เหมือนโรคเอดส์ แต่ที่สำคัญคือ ติดต่อได้ง่ายกว่า เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับเชื้อแล้วจะเป็นโรคจะมีสูงกว่า เมื่อได้รับเชื้อเข้าไปในเลือดแล้ว เชื้อไวรัสจะไปรวมที่ตับ ทำให้ตับอักเสบ ส่วนจะมีอาการของโรคตับอักเสบหรือไม่ ขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน บางคนแทบไม่มีอาการ เป็นแล้วหายเอง และมีภูมิต้านทานในตัว แต่บางคนเป็นแล้วเชื้อไม่หายไปจากตัว กลายเป็นชนิดเรื้อรังหรือเป็นพาหะติดต่อผู้อื่นได้ พอตับอักเสบนาน ๆ เข้าเป็น 10 – 20 ปี ก็ทำให้เซลล์ตับเป็นพังผืด เหี่ยวลง จนอาจกลายเป็นโรคตับแข็ง ซึ่งบางเซลล์ในล้าน ๆ เซลล์ อาจพัฒนาเป็นมะเร็งตับได้ แต่ก็มีเหมือนกันในกรณีที่เป็นตับอักเสบ แต่ไม่มีตับแข็ง แล้วกลายเป็นมะเร็งตับได้เช่นกัน

คนที่มีไขมันพอกในตับมาก ๆ (Fatty Liver) โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานบางคน ปัจจุบันถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดตับแข็งได้เหมือนกัน อาจต้องปรึกษาแพทย์เรื่องการตรวจตับด้วยอัลตราซาวนด์หรือตรวจเลือดหามะเร็งตับตามความเหมาะสม แต่เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นแล้ว อาจส่งผลแสดงอาการต่าง ๆ ได้ เช่น ปวด แน่นท้องบริเวณด้านขวาบน หรือหากเป็นก้อนตรงตับกลีบซ้าย อาจมีอาการบริเวณลิ้นปี่ และมีอาการเหม็นเบื่ออาหาร ทานไม่ค่อยได้ ซึ่งส่งผลให้น้ำหนักลดลงโดยไม่รู้ตัว บางคนอาจมีอาการเกี่ยวกับการย่อยอาหาร ท้องอืด อาหารไม่ย่อย เพราะเคมีน้ำดีในตับบกพร่อง คนที่ก้อนโตมากขึ้นอาจคลำก้อนได้บริเวณใต้ชายโครงขวา รู้สึกท้องโต แน่นตึง บางคนอาจมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง หรือมีน้ำไปที่ช่องท้องที่เรียกว่า ท้องมาน เกิดขึ้นได้หากก้อนลุกลามมาก แต่อาการเหล่านี้บางครั้งอาจเกิดจากภาวะตับแข็งเฉย ๆ โดยที่ยังไม่ได้เป็นมะเร็ง หากมีอาการสงสัยว่าจะเป็นโรคมะเร็งตับ อย่าเพิ่งตื่นตระหนก เพราะส่วนมากแล้วมักจะไม่มีอาการของโรคมะเร็งตับจริง ๆ ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการต่อไป

 

5) มะเร็งศีรษะและลำคอ

มะเร็งศีรษะและลำคอ (Head and Neck Cancer) นับเป็นอีกโรคที่คุณผู้ชายไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นปัญหาที่สาธารณสุขระดับโลกให้ความสำคัญ ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นประมาณ 540,000 รายทั่วโลก และเสียชีวิตกว่า 271,000 รายต่อปี ส่วนใหญ่โรคนี้มีสาเหตุจากเยื่อเมือกบุภายในของอวัยวะบริเวณศีรษะและลำคอ ได้แก่ ช่องปาก ซึ่งประกอบด้วยริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม เนื้อเยื่อใต้ลิ้น รอบ ๆ ลิ้น เหงือก ลิ้น และเพดานแข็ง คอหอยส่วนปาก ซึ่งประกอบด้วย โคนลิ้น ต่อมทอนซิล เพดานอ่อน และลิ้นไก่ โพรงหลังจมูก กล่องเสียง ต่อมไทรอยด์ เนื้อเยื่อรอบกล่องเสียง โพรงจมูก และโพรงไซนัส และต่อมน้ำลายต่าง ๆ

สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งศีรษะและลำคอยังไม่ทราบชัดเจน แต่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ คือ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การขาดวิตามิน และเกลือแร่ การบริโภค หมาก ยาฉุน การมีแผลเรื้อรังในช่องปากจากโรคต่าง ๆ การติดเชื้อไวรัสบางชนิดที่สำคัญ เช่น เชื้อไวรัสอีบีวี (EB virus) ไวรัสเอชพีวี (HPV viruses) และไวรัสเอชไอวี (HIV virus) สำหรับประเทศไทยพบว่า ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งศีรษะและลำคอมาจากการดื่มเหล้าและการสูบบุหรี่ ส่วนการเคี้ยวหมากร่วมกับใบยาสูบเป็นพฤติกรรมที่พบบ่อยในอดีต และเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเกิดมะเร็งช่องปาก โดยเฉพาะบริเวณกระพุ้งแก้ม ผู้ป่วยบางรายอาจมีความผิดปกติระดับยีนที่เสริมให้เกิดมะเร็งจากการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุเสริมอื่น ๆ ได้แก่ ภาวะภูมิคุ้มกันความผิดปกติทางพันธุกรรมอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งศีรษะและลำคอ นอกจากนี้การใช้ฟันปลอมที่ไม่พอดี ทำให้เกิดการเสียดสีกับเยื่อบุภายในปากก็อาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองจนเป็นแผล ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ให้เกิดขึ้นเป็นประจำก็อาจทำให้เกิดมะเร็งได้ในระยะยาว และอีกสาเหตุที่พบมากขึ้นในต่างประเทศคือ การได้รับเชื้อ Human Papillomavirus หรือ HPV (ไวรัสตัวเดียวกับที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก) จากการมีคู่นอนหลายคน การทำออรัลเซ็กส์ ก็อาจจะเป็นมะเร็งในช่องปาก คอหอย และต่อมทอนซิลได้

 

อย่างไรก็ตามวิธีดูแลตัวเองเพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งนั้นเริ่มต้นทำง่าย ๆ คือ การเลิกบุหรี่และเลิกดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกหมู่อาหารในปริมาณเหมาะสม รักษาน้ำหนักให้เป็นไปตามเกณฑ์ ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว หมั่นตรวจเช็กร่างกายสม่ำเสมอ อย่าละเลยการสังเกตอาการด้วยตนเอง หากพบความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ ตรวจเช็กสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากตรวจพบแต่เนิ่น ๆ จะได้รีบรักษาอย่างทันท่วงที มีโอกาสหายขาดได้สูง

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง