คุณผู้ชายอย่าชะล่าใจ...มะเร็งต่อมลูกหมาก

คุณผู้ชายอย่าชะล่าใจ...มะเร็งต่อมลูกหมาก


มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในเพศชาย จากสถิติของประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากในปี 2014 เป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอด และมีผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากที่ได้รับการวินิจฉัยเพิ่มใหม่ถึง 2 แสนกว่าคน เป็นสัญญาณเตือนว่า คุณผู้ชายไม่ควรละเลยโรคนี้ เพราะหากพบในระยะที่ลุกลามอาจทำให้รักษาได้ยากยิ่งขึ้น

 

ต่อมลูกหมาก

ต่อมลูกหมาก (Prostate Gland) เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์และระบบปัสสาวะชาย ตั้งอยู่บริเวณฐานของกระเพาะปัสสาวะ โดยแบ่งออกเป็น 2 ซีกและมีท่อปัสสาวะอยู่ตรงกลาง หน้าที่ของต่อมลูกหมากคือ ผลิตน้ำหล่อลื่น (Seminal Fluid) ที่อยู่ในน้ำอสุจิ (Semen)

 

มะเร็งต่อมลูกหมาก

มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นเซลล์ต่อมลูกหมากที่มีความผิดปกติในการควบคุมการแบ่งตัว เมื่อเซลล์ผิดปกติเพิ่มจำนวนและรวมตัวมากขึ้น สามารถลุกลามเฉพาะที่และกระจายตัวไปยังอวัยวะต่าง ๆ ได้ มะเร็งต่อมลูกหมากพบในผู้ชายสูงวัย โดยในระยะแรก ๆ อาจไม่แสดงอาการชัดเจน แต่อาการที่สังเกตได้คือ ปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะมีเลือดปน เป็นต้น

 

ระยะโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

ระยะของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กอยู่ภายในต่อมลูกหมาก ตรวจไม่พบจากการคลำผ่านทางทวารหนัก
  • ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นจนสามารถคลำได้ทางท่อทวารหนัก แต่ยังอยู่ภายในต่อมลูกหมาก
  • ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามออกนอกต่อมลูกหมากเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง
  • ระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามเข้าสู่อวัยวะใกล้เคียง หรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ผ่านทางกระแสเลือดและระบบไหลเวียนน้ำเหลือง ที่พบบ่อยคือ กระดูกและปอด

 

ปัจจัยเสี่ยง

  • อายุ มะเร็งต่อมลูกหมากมักพบบ่อยในผู้ชายอายุเฉลี่ยประมาณ 65 ปีขึ้นไป
  • ประวัติครอบครัว ถ้ามีคนในครอบครัว เช่น พ่อ พี่ชาย หรือน้องชายเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก จะทำให้เพิ่มโอกาสการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น
  • เชื้อชาติ จากการศึกษาพบว่า มะเร็งต่อมลูกหมากพบในคนแอฟริกันมากกว่าคนผิวขาว และพบน้อยในคนเอเชีย

“อาการปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะมีเลือดปนในผู้ชายอายุ 65 ปีขึ้นไป อาจเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งต่อมลูกหมาก เมื่อมีอาการดังกล่าวควรรีบมาพบแพทย์และตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพราะยิ่งตรวจพบเร็วก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะรักษาโรคให้หาย… อย่ารอช้ากับมะเร็งต่อมลูกหมาก”

 

ตรวจวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากสามารถทำได้โดย

  • ซักประวัติ ประเมินหาความเสี่ยง ตรวจร่างกาย ทวารหนัก และส่องกล้องดูภายในกระเพาะปัสสาวะและต่อมลูกหมาก
  • ตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) (Prostatic Specific  Antigen) โดยเฉพาะในผู้ป่วยอายุระหว่าง 45 – 50 ปีที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่อายุน้อย หากค่า PSA มากกว่า 10 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร หรือคลำพบก้อนแข็งหรือขรุขระถือว่าผิดปกติ ต้องตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
  • ดัชนีสุขภาพต่อมลูกหมาก (PHI) (Prostate Health Index) ปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการตรวจที่เรียกว่า Prostate Health Index (PHI) หรือ ดัชนีสุขภาพต่อมลูกหมาก ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ในการคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก สามารถตรวจได้โดยเจาะเลือดผู้ป่วยแล้วใช้ชุดน้ำยาและเครื่องตรวจอัตโนมัติเพื่อหาค่ารวมของสาร 3 ตัวคือ PSA, Free PSA และ [-2]pro-PSA โดยมีความละเอียดมากยิ่งขึ้นและมีความน่าเชื่อถือมากกว่าการตรวจแบบ PSA ถึง 3.5 เท่า
  • การตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก หากพบว่ามีรอยโรคที่ต่อมลูกหมากที่สงสัยมะเร็ง โดยทั่วไปแนะนำให้มีการตัดชิ้นเนื้อจากบริเวณนั้นมาตรวจ เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือไม่
  • การตรวจเพิ่มเติม เพื่อประเมินการลุกลามหรือระยะของโรค ได้แก่ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก (MRI) ในบริเวณต่อมลูกหมากและอุ้งเชิงกราน การตรวจ X-Ray หรือ CT Scan ปอดและช่องท้อง การตรวจกระดูกด้วย Bone Scan

 

รักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

วิธีการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากขึ้นอยู่กับระยะของโรค (Staging) และปัจจัยเสี่ยง (Risk Factor) ต่าง ๆ ประกอบด้วย

  • การรักษาด้วยการผ่าตัด
  • การรักษาด้วยรังสี (Radiotherapy)
  • การรักษาด้วยฮอร์โมน (Hormonal Therapy)
  • การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)

 

ดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก

หัวใจสำคัญของการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก คือ การดูแลรักษาผู้ป่วยเฉพาะรายตามระดับความเสี่ยงและความรุนแรงของโรค ได้แก่

  • กลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่ำ (Low Risk Group) การรักษาที่เหมาะสมเป็นการรักษาเฉพาะที่ (Local Treatment) ได้แก่ การผ่าตัดต่อมลูกหมาก (Radical Prostatectomy) หรือการใช้รังสีรักษาเฉพาะที่ต่อมลูกหมาก ซึ่งอาจจะเป็นการฉายรังสี (External Beam Irradiation) หรือการฝังแร่ (Brachytherapy)
  • กลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงปานกลาง (Moderate Risk Group) และกลุ่มความเสี่ยงสูง (High Risk Group) นอกจากการรักษาเฉพาะที่ที่ต่อมลูกหมากแล้ว อาจต้องพิจารณาการรักษาในบริเวณข้างเคียง (Regional Treatment) ได้แก่ การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองในบริเวณอุ้งเชิงกราน (Pelvic Lymph Node Dissection) หรือการฉายรังสีคลุมบริเวณอุ้งเชิงกราน (Pelvic Lymph Node Irradiation) หรือการรักษาทั้งระบบ (Systemic Treatment) ได้แก่ การรักษาด้วยการลดฮอร์โมนเพศชาย (Androgen Deprivation Therapy) หรือการใช้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) ร่วมด้วย
  • กลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในระยะลุกลามมาก มีการกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ แล้ว หรือผู้ป่วยที่ร่างกายทั่วไปไม่แข็งแรง มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้ง่าย แนวทางการรักษาจะเน้นการพิจารณาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นหลัก การรักษาประกอบด้วยการรักษาต่าง ๆ ดังได้กล่าวไปแล้วร่วมกับการรักษาตามอาการ ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาวะของโรค อาการ และความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวในขณะนั้น หรือเรียกว่าการดูแลแบบ Palliative Care

“การคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก เพื่อให้การวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมากสามารถตรวจพบมะเร็งได้ในระยะเริ่มต้น ซึ่งจะทำให้ผลการรักษาดี การคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากแนะนำให้ทำในผู้ชายที่มีอายุ 40 – 45 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่อายุน้อย”

 

การหมั่นตรวจเช็กร่างกายคุณผู้ชายเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น คือการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้อย่างทันท่วงที

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง