Share

วิธีการรักษาด้วยรังสีระยะใกล้ Brachytherapy ได้แก่

  • Mold คือการวางอิริเดียม-192 ในแผ่นพลาสติกที่มีรูปร่างต่าง ๆ ตามก้อนมะเร็ง ใช้รักษามะเร็งที่ผิว
  • Intracavitary Therapy คือ การใส่อิริเดียม-192 เข้าไปในเครื่องมือ ซึ่งจะถูกใส่เข้าไปในบริเวณช่องหรือโพรงต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ปากมดลูก ทวาร เป็นต้น
  • Intraluminal Therapy คือ การใส่อิริเดียม-192 เข้าไปในท่อในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่สามารถใส่ท่อลงไปได้ เช่น ปอด หลอดอาหาร เป็นต้น
  • Interstitial Implant คือ การใส่อิริเดียม-192 เข้าไปในก้อนมะเร็ง หรือในเนื้อเยื่อที่อยู่ระหว่างก้อนมะเร็ง วิธีนี้จะใช้ในการรักษาพวกมะเร็งช่องปากและบริเวณที่อยู่ใกล้ผิว

ปัจจุบันเทคนิคการรักษาแบบนี้ได้พัฒนาโดยใช้สารกัมมันตรังสีขนาดเล็ก จึงทำให้เครื่องมือที่ใช้มีขนาดเล็กและสามารถวางแผนการรักษาแบบ 3 มิติ ซึ่งทำให้ได้การรักษาที่ถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น และการรักษายังใช้ระยะเวลารักษาไม่นาน ไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาล เมื่อรักษาเสร็จสามารถกลับบ้านได้

ข้อบ่งชี้การตรวจ

การรักษาด้วยรังสีระยะใกล้ Brachytherapy สามารถใช้กับมะเร็งต่าง ๆ ดังนี้

  • มะเร็งปากมดลูก
  • มะเร็งเยื่อบุมดลูก
  • มะเร็งที่ลิ้น
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • มะเร็งสมอง
  • มะเร็งรังไข่
  • มะเร็งโพรงมดลูก
  • มะเร็งหลอดอาหาร
  • มะเร็งปอด
  • มะเร็งเต้านม


ข้อดีของการรักษา

การรักษาวิธีนี้เป็นการรักษาที่ใช้รังสีเข้าไปใกล้ตำแหน่งที่ต้องการรักษาโดยตรง ทำให้ได้รับรังสีปริมาณมากและอวัยวะใกล้เคียงอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องจะได้รับรังสีน้อยลง และสามารถใช้เป็นการรักษาร่วมกับการฉายรังสีจากภายนอกได้


ทางเลือกอื่นในการรักษา

  • การรักษาที่ใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น
  • การผ่าตัด

เตรียมตัวก่อนใส่แร่

  • เย็นก่อนวันนัด แนะนำให้รับประทานอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม
  • เช้าวันนัดใส่แร่ แนะนำให้รับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม
  • มาถึงโรงพยาบาลตามเวลานัดหมาย หรือมาก่อนเวลานัดประมาณ 30 นาที
  • กรุณาพาญาติมาด้วยทุกครั้ง

การใส่แร่

  • การใส่แร่เป็นส่วนหนึ่งของการรักษา โดยแพทย์จะใส่เครื่องมือในช่องคลอด และ/หรือโพรงมดลูก จากนั้นจะเอกซเรย์เพื่อตรวจสอบตำแหน่งของเครื่องมือ เมื่อเครื่องมืออยู่ในตำแหน่งที่ต้องการจึงจะมีการใส่แร่เข้าไปในเครื่องมือ
  • ในระหว่างการใส่แร่ ผู้ป่วยจะรู้สึกตัวตลอดเวลา และไม่ควรกังวลมากเกินไปในขณะใส่แร่ เพื่อให้การใส่แร่ไม่ลำบากและลดความเจ็บปวดของผู้ป่วย
  • หลังใส่เครื่องมือเรียบร้อยแล้วต้องมีการคำนวณปริมาณรังสีโดยเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อความถูกต้อง เมื่อคำนวณเรียบร้อยจึงเริ่มทำการรักษา โดยการใส่แร่เข้าไปในเครื่องมือซึ่งใช้เวลาในการรักษาไม่นาน ส่วนมากจะใช้เวลาประมาณ 15 – 30 นาที
  • เมื่อครบเวลาการรักษา เครื่องคอมพิวเตอร์จะนำแร่ออกจากคนไข้โดยอัตโนมัติ แล้วแพทย์จะนำเครื่องมือออกอีกครั้ง ดังนั้นผู้ป่วยจึงไม่ต้องกังวลว่าจะมีแร่ติดตัวกลับไป
  • จำนวนครั้งในการใส่แร่ของผู้ป่วยแต่ละรายอยู่ที่ประมาณ 2 – 5 ครั้ง สัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับโรคของผู้ป่วย และการวินิจฉัยของแพทย์ผู้รักษาเป็นสำคัญ ดังนั้นควรมาใส่แร่ตามคำแนะนำของแพทย์ให้ครบ เพื่อประโยชน์ในการรักษาที่ดีที่สุดของผู้ป่วย

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยหลังใส่แร่

ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก

  • วันหลังใส่แร่ห้ามสวนล้างช่องคลอด
  • ห้ามมีเพศสัมพันธ์
  • ห้ามยกของหนักเกิน 2 – 3 กิโลกรัมขึ้นไป
  • สังเกตตนเอง ถ้ามีเลือดติดกางเกงในเล็กน้อยไม่เป็นไร แต่ถ้ามีเลือดออกมาก ๆ จนชุ่มผ้าปิดแผล แนะนำให้มาพบแพทย์
  • ทานอาหารตามปกติ
  • หลังใส่แร่จะมีปวดหน่วงท้องน้อยเล็กน้อย สามารถทานยาพาราเซตามอลได้
  • ถ้ามีแสบขัดเวลาปัสสาวะให้ดื่มน้ำมาก ๆ แต่ถ้าไม่ดีขึ้นให้มาพบแพทย์

ผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูก

  • ให้สังเกตว่ามีเลือดออกไหม
  • หลังใส่แร่อาจมีน้ำมูกใส ๆ ได้
  • ห้ามแคะจมูกเพราะจะทำให้เลือดออก
  • ถ้ามีเลือดออกมากให้มาพบแพทย์ทันที

ผลข้างเคียงจากการรักษา

เนื่องจากแร่มีพลังงานสูง ดังนั้นห้องรักษาต้องเป็นห้องปิดที่มีเครื่องกั้นรังสี โดยผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • อาจมีอาการไข้ต่ำ ๆ หลังการใส่แร่
  • อาการปวดท้องบริเวณที่ใส่แร่
  • อาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • อาจมีอาการเลือดออกหลังการใส่แร่