เครื่องเร่งอนุภาค Linear Accelerator (LINAC)
Share
เกี่ยวกับ LINAC
เครื่องเร่งอนุภาค LINAC เป็นเครื่องฉายรังสีที่ใช้กระแสไฟฟ้าในการผลิตรังสีเอกซเรย์พลังงานสูง โดยสามารถแบ่งระดับพลังงานของรังสีเอกซ์ได้เป็น 2 ระดับ คือ
- พลังงาน 6 MV เหมาะสำหรับในส่วนของรอยโรคที่ลึกไม่เกิน 10 เซนติเมตร
- พลังงาน 18 MV เหมาะสำหรับในส่วนของรอยโรคที่ลึกเกิน 10 เซนติเมตร
โดยที่เครื่องเร่งอนุภาค LINAC สามารถให้การรักษาได้ด้วยเทคนิคแบบมาตรฐาน (Conventional Therapy) และเทคนิคแบบความถูกต้องชัดเจนสูง 3D-CRT (Three Dimensions Conformal Radiation Therapy) หรือ IMRT (Intensity Modulated Radiation Therapy) ซึ่งสามารถรักษาได้ทุกส่วนของร่างกาย
กลุ่มผู้ป่วยที่รักษาด้วยเครื่องฉายรังสี LINAC
ข้อบ่งชี้กลุ่มผู้ป่วยที่รักษาด้วยเครื่องฉายรังสี LINAC
- กลุ่มโรคเนื้องอกในสมองส่วนต่าง ๆ
- กลุ่มโรคมะเร็งที่แพร่กระจายมาสู่สมองหรือกลับมาเป็นใหม่
- มะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอ
- โรคมะเร็งของกระดูกสันหลัง ต่อมลูกหมาก และปอด
- เนื้องอกที่อยู่ในตำแหน่งใกล้กับอวัยวะที่ไวต่อรังสี ซึ่งจะเกิดอันตรายถ้าใช้เทคนิคการรักษาแบบเก่า
ข้อดีของเครื่องฉายรังสี LINAC
- เทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในปัจจุบัน มีความถูกต้องชัดเจนในการรักษาสูง
- เหมาะสำหรับรอยโรคทุกขนาดและอยู่ใกล้อวัยวะที่สำคัญที่มีความไวต่อรังสี
- กำหนดการกระจายของรังสีในเป้าหมายให้พอดีกับขนาดของเป้าหมาย
- ลดความเสียหายของเนื้อเยื้อหรือหรืออวัยวะปกติที่อยู่รอบ ๆ รอยโรค
- ลดเวลาในการฉายรังสี โดยเพิ่มอัตราปริมาณรังสีให้สูงและสามารถควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ได้
- ผู้ป่วยที่รับการฉายรังสีไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล
การปฏิบัติตัวก่อนฉายรังสี
- ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจร่างกายและซักประวัติอย่างละเอียด รวมทั้งการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการก่อนการฉายรังสี
- เมื่อมารับการฉายรังสีควรสวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการถอดและการสวมใส่
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าต่อร่างกาย
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว
- งดสุรา บุหรี่ หมาก พลูเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงพร้อมที่จะฉายรังสี
- ดูแลความสะอาดของร่างกาย ปาก และฟัน
- กรณีมีโรคประจำตัวและมียาประจำที่ต้องรับประทานสามารถรับประทานได้ต่อเนื่อง แต่ต้องแจ้งแพทย์ที่ดูแลทางรังสีรักษารับทราบด้วย
- การฉายรังสีต้องใช้เวลานาน ดังนั้นต้องเตรียมตัวเกี่ยวกับการเดินทางและที่พักอาศัยขณะมารับการฉายรังสี
การปฏิบัติตัวขณะรับการฉายรังสีและหลังการฉายรังสี
- ระมัดระวังอย่าให้เส้นลบ ถ้าเส้นลบให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันทีที่มารับการฉายในวันถัดมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ครีมหรือยาทาผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี
- การทำความสะอาดร่างกาย แนะนำให้อาบน้ำได้ปกติ แต่ต้องระวังไม่ขัดถูขี้ไคลหรือใช้สบู่ถูบริเวณที่ฉายรังสี
- ห้ามวางกระเป๋าน้ำร้อนหรือน้ำเย็นบริเวณที่ฉายรังสี
- ป้องกันการระคายเคืองต่อผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี โดยไม่ใส่เสื้อผ้าที่คับ หรือเนื้อผ้าหยาบกระด้าง หรือใช้เครื่องผูกรัด
- ห้ามใช้แป้งทาบริเวณที่ฉายรังสี เนื่องจากแป้งอาจมีโลหะหนักผสมอยู่ เมื่อฉายรังสีจะทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อผิวหนังรุนแรง
- หลีกเลี่ยงการโกนขนหรือผมบริเวณที่ฉายรังสี เพราะอาจทำให้เกิดแผล
ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี LINAC
- การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี เมื่อฉายได้ 1 – 2 สัปดาห์ ผิวหนังอาจมีลักษณะบวม แดง แห้ง เป็นขุย คัน และอาจลอกหรือตกสะเก็ดได้
- อาการอ่อนเพลียเป็นอาการปกติที่อาจพบได้ระหว่างการฉายรังสี ซึ่งอาจเกิดจากการรับประทานอาหารได้น้อยหรือเบื่ออาหาร
- ความต้านทานโรคต่ำ ซีด และเลือดออกง่าย ซึ่งเกิดจากการฉายรังสีที่เข้าไปกดการทำงานของไขกระดูก ซึ่งมักจะเกิดจากการฉายบริเวณที่มีการสร้างเม็ดเลือดมาก เช่น กระดูกอุ้งเชิงกราน กระดูกซี่โครงและหน้าอก เฝ้าระวังโดยการเจาะเลือดดู CBC
- การเกิดภาวะแทรกซ้อนเฉพาะที่ เช่น การเกิด Mucositis, Diarrhea
- อาการปากแห้ง กรณีฉายบริเวณศีรษะ ลำคอ และต่อมน้ำลาย
- อาการทางระบบทางเดินอาหาร กรณีฉายรังสีบริเวณช่องท้อง
- อาการทางสมอง กรณีมีการฉายบริเวณศีรษะ ซึ่งอาจเกิดสมองบวมได้
- อาการของอวัยวะสืบพันธ์ุ กรณีมีการฉายรังสีบริเวณอุ้งเชิงกราน เช่น ในเพศชายอาจเกิดการไม่แข็งตัวของอวัยวะเพศ ส่วนเพศหญิงอาจเกิดการตีบตันของช่องคลอด และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน