PET/CT Scan พร้อมระบบ Flow Motion

Share

ข้อมูลเบื้องต้น

ปัจจุบันการพัฒนาด้านการรักษาผู้ป่วยมะเร็งได้มีความก้าวหน้าไปมาก เช่น การฉายแสงในระบบ 3 มิติ การให้ยาเคมีบำบัดซึ่งให้ผลเฉพาะที่ (Target Therapy) ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดีขึ้นและเหมาะสมกว่าและทำให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพที่ดี ดังนั้นการตรวจวินิจฉัยมะเร็งจึงมีความสำคัญยิ่งที่จะต้องมีความไว (Sensitivity) และความถูกต้อง (Accuracy) ด้วย
การตรวจโรคด้วยเครื่องมือด้านรังสีเป็นสิ่งที่สำคัญมากและมีเครื่องมือแพทย์ในกลุ่มนี้มากมาย ซึ่งอาจเป็นที่รู้จักกันโดยแพร่หลาย เช่น การตรวจ CT Scan (ซีที สแกน) การตรวจ MRI (เอ็มอาร์ไอ) หรือ Ultrasound (อัลตราซาวนด์) เป็นต้น
สำหรับโรคมะเร็งได้มีเครื่องที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็ง โดยได้นำมาใช้ในประเทศไทยประมาณ 10 ปี แต่อาจยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในหมู่คนไทยเรา คือ PET/CT Scan (เพทซีที สแกน)


เกี่ยวกับ PET/CT Scan

PET/CT Scan เป็นการตรวจโรคทางด้านรังสิวิทยา โดยนำเครื่องมือตรวจด้านรังสี 2 ชิ้น มารวมเป็นเครื่องมือชิ้นเดียวกัน ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องมือทั้งสองชิ้นคือ ความไวสูง (Sensitivity) ทำให้ข้อมูลจาก PET Scan  นั้นแพทย์สามารถอ่านผลและพบความผิดปกติของโรคที่ไม่สามารถเห็นหรือวินิจฉัยได้จากการตรวจด้วยเครื่องมืออื่น ผนวกกับการที่แพทย์สามารถกำหนดตำแหน่งของโรคนั้นได้อย่างถูกต้องชัดเจนด้วยภาพจาก CT Scan  


กระบวนการตรวจ PET/CT Scan

กระบวนการตรวจ PET/CT Scan จะเริ่มจากการฉีดกลูโคสชนิดพิเศษ ซึ่งมีรังสีอยู่ในตัวเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งน้ำตาลพิเศษนี้จะซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ชนิดของเนื้อเยื่อ แล้วเปล่งรังสีออกมาจากเนื้อเยื่อนั้น
แพทย์จะใช้เครื่อง PET Scan ถ่ายภาพรังสีในร่างกายดังกล่าว ทำให้ได้ภาพเป็นร่างกายที่เรืองแสง ประเด็นสำคัญอยู่ที่มะเร็งชนิดก้อน (Solid Tumor) หลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ มะเร็งหลังโพรงจมูก มะเร็งเต้านม เป็นต้น สามารถจับน้ำตาลชนิดพิเศษนี้ได้มากกว่าเนื้อเยื่อปกติ ทำให้เห็นเป็นจุดสว่างเรืองแสงชัดเจนกว่าการเรืองแสงของเนื้อเยื่อปกติในร่างกาย ทำให้แพทย์สามารถตรวจพบมะเร็งนั้นได้ในผู้ป่วยบางรายที่มีการกระจายของมะเร็งไปในอวัยวะต่าง ๆ จุดเรืองแสงเหล่านี้จะปรากฎให้เห็นอยู่ในอวัยวะนั้น ๆ กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นในระดับของชีวเคมีภายในเซลล์ (Metabolism) ซึ่งโดยหลักการความผิดปกติของเซลล์มะเร็งจะมีความผิดปกติของชีวเคมีภายในเซลล์ก่อนที่จะก่อนตัวให้เห็นด้วยตาหรือการตรวจทางด้านรังสีอื่น ๆ ทำให้ PET Scan เป็นการตรวจที่มีความไว (Sensitivity) สูงมาก


PET/CT Scan พร้อมระบบ Flow Motion
ข้อดีของ PET/CT Scan

ในวงการแพทย์ด้านมะเร็งจึงนำ PET/CT มาใช้ประโยชน์ในการตรวจโรคมะเร็งในหลายขั้นตอน อันได้แก่

  • การกำหนดระยะโรค (Staging)
  • การใช้เป็นมาตรวัดการรักษา (Treatment Monitoring)
  • ตรวจการกลับเป็นซ้ำ (Restaging)

การรักษาที่มีประสิทธิภาพนั้น ชนิดและวิธีการรักษาจะต้องสอดคล้องกับระยะโรคที่เป็นอยู่จริง การกำหนดระยะของโรคที่คลาดเคลื่อนย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้ป่วยอย่างแน่นอน มีรายงานการศึกษาจำนวนมากที่ระบุว่า PET/CT Scan ช่วยให้การกำหนดระยะของโรคถูกต้องขึ้น ในแง่ของการเป็นมาตรวัดการรักษา PET/CT Scan จะช่วยบอกแพทย์ให้ทราบว่า โรคมะเร็งนั้นตอบสนองต่อการรักษาที่ให้หรือไม่ ถ้าไม่ตอบสนองแพทย์ก็สามารถเปลี่ยนชนิดของยาหรือการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ทำให้ลดผลข้างเคียงจากยาและลดค่าใช้จ่ายจากการรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์นั้น ๆ
ตัวอย่างที่เด่นชัดมากในกรณีนี้คือ การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งพบว่า PET/CT เข้าไปมีบทบาทแทบจะทุกขั้นตอนของการรักษา มีรายงานการศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ศึกษาถึงผลอันเกิดจากการตรวจ PET/CT  ต่อวิธีการรักษาโรคมะเร็งพบว่า หลังการตรวจผู้ป่วยด้วย PET/CT แพทย์ผู้ให้การรักษาจะเปลี่ยนแนวทางการรักษาที่วางไว้แต่เดิมประมาณ 30% ของจำนวนผู้ป่วย ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม PET/CT ไม่ใช่เครื่องมือที่เป็นคำตอบสุดท้ายของการวินิจฉัยโรคมะเร็ง เพียงแต่ PET/CT จะช่วยให้การวินิจฉัยถูกต้องมากขึ้นกว่าและเป็นผลทำให้การรักษาของแพทย์มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้การเลือกใช้ PET/CT ให้ถูกต้องเหมาะสมตามชนิดของมะเร็งและข้อบ่งชี้ยังมีส่วนสำคัญมาก เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ป่วยสามารถเปลี่ยนชนิดของยาหรือการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ทำให้ลดผลข้างเคียงจากยาและลดค่าใช้จ่ายจากการรักษาที่ไม่เกิดประโยชน์นั้น ๆ ตัวอย่างที่เด่นชัดมากในกรณีนี้คือ การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งพบว่ า PET/CT เข้าไปมีบทบาทแทบจะทุกขั้นตอนของการรักษา


Biograph mCT Flow

โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง พร้อมให้บริการผู้ป่วยด้วย PET/CT ใหม่ 2 เครื่อง ด้วยเทคโนโลยีใหม่ คือ Biograph mCT Flow ของบริษัท Siemens ที่ทำให้ผู้รับการตรวจจะมีความรู้สึกนุ่มนวลและสบายขึ้น ขณะอยู่บนเตียงตรวจ และการทำงานของเครื่องราบรื่น ไม่เหมือนเครื่องรุ่นก่อนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว นอกจากนี้คุณภาพของภาพ PET Scan ก็มีความคมชัดที่สูงขึ้น ทำให้แพทย์สามารถแปลผลภาพสแกนด้วยความมั่นใจและถูกต้องยิ่งขึ้น


PET/CT Scan พร้อมระบบ Flow Motion
ความหวังของการรักษามะเร็ง

หลายปีก่อนหน้านี้ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งจะทำให้รู้สึก ท้อแท้ สิ้นหวัง หมดกำลังใจ แต่ในปัจจุบันด้วยพัฒนาการด้านการแพทย์ ทั้งในด้านการวินิจฉัยและการรักษา ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งจำนวนมากสามารถหายจากโรคนี้ได้  ในบางกรณีแม้จะไม่หายขาดแต่ก็สามารถมีชีวิตยืนยาวและกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติอีกครั้ง จนทำให้โรคมะเร็งในปัจจุบันถูกมองว่าเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ไม่น่ากลัวจนเกินไป ผู้ป่วยสามารถอยู่กับโรคได้อย่างมีความสุขและเข้ารับการตรวจรักษาเป็นครั้งคราวตามคำแนะนำของแพทย์ การดูแลสุขภาพและป้องกันโรคอย่างถูกต้องเหมาะสมเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก ต่อมาคือการตรวจสุขภาพตามกำหนด และเมื่อใดที่มีข้อสงสัยว่าจะมีโอกาสเป็นโรคนี้อย่าได้นิ่งนอนใจ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะการตรวจเจอโรคมะเร็งในระยะต้น ๆ สามารถรักษาให้หายขาดได้