มะเร็งปอด เรื่องไม่เล็กควรใส่ใจ

มะเร็งปอด เรื่องไม่เล็กควรใส่ใจ


ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปอดเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า มะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงที่สุด โดยในปี 2012 มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดทั่วโลก 1,590,000 คน สำหรับประเทศไทย ปี 2008 มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ถึง 8,403 คน นอกจากนี้โรคนี้ยังพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และผู้สูงอายุมากกว่าผู้ที่มีอายุน้อย จึงไม่ควรมองข้ามการตรวจเช็กร่างกายและดูแลตนเองให้ห่างไกลมะเร็งปอด

 

ทำความเข้าใจมะเร็งปอด

มะเร็งปอดเป็นเนื้องอกของปอดชนิดโตเร็ว ลุกลามสู่อวัยวะข้างเคียง และกระจายตัวไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้ เกิดจากเซลล์ของเนื้อเยื่อในปอดแบ่งตัวเร็วผิดปกติจนควบคุมไม่ได้ ซึ่งอาจมีสาเหตุจากปัจจัยภายนอกและภายใน

  • ปัจจัยภายนอก ได้แก่ สารก่อมะเร็งที่อยู่ในบุหรี่และมลภาวะต่าง ๆ อยู่ในสิ่งแวดล้อม กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ ซึ่งผู้สูบบุหรี่โดยตรงและผู้ที่ได้ควันบุหรี่โดยอ้อมจากควันบุหรี่จากผู้อื่นเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญ นอกจากนั้นพบว่าสารก่อมะเร็งอาจมาจากสภาวะแวดล้อมและการทำงาน ได้แก่ Radon และ Asbestos เป็นต้น
  • ปัจจัยภายใน ได้แก่ ความบกพร่องทางกรรมพันธุ์ หรือความเสื่อมของเซลล์ ทำให้ไม่สามารถซ่อมแซมเซลล์ที่ผิดปกติได้

อาการต้องสังเกต

ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์ด้วยอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด แต่ในกรณีที่โรคลุกลาม นอกจากอาการที่ปอดแล้ว อาการจะขึ้นกับอวัยวะที่โรคลุกลามไปถึง ซึ่งอาจเป็นอวัยวะข้างเคียงหรือบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายที่โรคกระจายไป อาการจะขึ้นอยู่กับบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากมะเร็งลุกลามไป เช่น

  • กลุ่มอาการ Horner Syndrome
    เกิดจากก้อนมะเร็งไปกดที่เส้นประสาท sympathetic ผู้ป่วยจะมีอาการปวดไหล่ร้าวไปตามแขนร่วมกับ หนังตาตก และเหงื่อไม่ออกซีกเดียว
  • กลุ่มอาการ SVC Obstruction
    เกิดจากการที่ก้อนมะเร็งไปกดที่เส้นเลือด SVC ผู้ป่วยจะมีอาการหน้าบวม คอบวม และนอนราบไม่ได้
  • กลุ่มอาการที่เกิดจากมะเร็งกระจายไปสมอง
    ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะและอาเจียนพุ่ง
  • กลุ่มอาการที่เกิดจากมะเร็งกระจายไปกดไขสันหลัง
    ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลัง ควบคุมอุจจาระและปัสสาวะไม่ได้ ขาชาอ่อนแรง คลำพบก้อนที่บริเวณไหปลาร้า น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ฯลฯ

การวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด

การวินิจฉัยโรคมะเร็งปอด ประกอบด้วย

  1. ซักประวัติและตรวจร่างกาย
  2. พิจารณาการตรวจเพิ่มเติมตามข้อบ่งชี้ ได้แก่
  • เอกซเรย์ปอด ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณทรวงอก หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าบริเวณทรวงอก เมื่อผลการตรวจภาพของปอดพบรอยโรคที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง จะต้องมีการตรวจเพื่อยืนยันการวินิจฉัยด้วยผลทางพยาธิวิทยา (Pathology) ร่วมด้วยเสมอ การนำตัวอย่างเซลล์ที่รอยโรคมาตรวจ อาจทำได้โดยการส่องกล้องเข้าไปทางหลอดลม หรือโดยการใช้เข็มเจาะผ่านทางผนังช่องอกขึ้นกับความเหมาะสม
  • การตรวจทางพยาธิวิทยาจะให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเซลล์มะเร็งปอด ได้แก่ ชนิดของเซลล์มะเร็งปอด ซึ่งมะเร็งปอดจะแบ่งเป็นชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer) และชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non – Small Cell Lung Cancer) นอกจากนั้นยังสามารถได้ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติของเซลล์มะเร็งในการตอบสนองต่อการรักษาต่าง ๆ

เมื่อการวินิจฉัยมะเร็งปอดชัดเจนแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินการลุกลามของโรค หรือระยะของโรคมะเร็ง ได้แก่ การตรวจสแกนกระดูก การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง การตรวจ PET/CT scan เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมกับสภาวะของโรค

รักษาโรคมะเร็งปอด

สำหรับการรักษาโรคมะเร็งปอดแบ่งตามชนิดของมะเร็ง ได้แก่

  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer)
    เป็นมะเร็งที่มีแนวโน้มจะกระจายตัวเร็วในขณะที่เซลล์ตอบสนองดีต่อเคมีบำบัด (Chemotherapy) และรังสีรักษา (Radiotherapy) การรักษาหลักจึงเป็นการรักษาด้วยเคมีบำบัด เพื่อทำลายเซลล์มะเร็งทั้งที่บริเวณจุดเริ่มต้นและป้องกันไม่ให้เกิดการกระจายไปยังบริเวณอื่น ๆ ส่วนการรักษาเสริมด้วยรังสีรักษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมโรคเฉพาะที่ ซึ่งอาจให้การรักษาพร้อมกันทั้งเคมีบำบัดและรังสี (Chemoradiotherapy) หรืออาจพิจารณาให้การรักษาต่อเนื่องกันแต่ไม่พร้อมกัน ทั้งนี้ขึ้นกับระยะของโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วย ความเห็นของแพทย์และความยินยอมของผู้ป่วย
  • มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non – Small Cell Lung Cancer)
    ในระยะเริ่มต้นที่โรคยังไม่ได้มีการลุกลาม หรือยังไม่มีการกระจาย การรักษาหลักคือการผ่าตัด โดยอาจพิจารณาให้การรักษาเสริมด้วยเคมีบำบัด, Targeted Therapy, Immunotherapy และรังสีรักษาตามข้อบ่งชี้ ส่วนในกรณีโรคลุกลามมากขึ้นมีความเสี่ยงที่โรคอาจจะกลับเป็นใหม่ได้ง่ายหรือเสี่ยงที่จะมีการกระจาย อาจเปลี่ยนการรักษาหลักเป็นการให้เคมีบำบัดพร้อมกับรังสีรักษา โดยอาจจะต้องพิจารณาการรักษาเสริม ได้แก่ Targeted Therapy และหรือ Immunotherapy ตามข้อบ่งชี้ ซึ่งทั้งหมดขึ้นกับระยะของโรคและสภาพร่างกายของผู้ป่วย ความเห็นของแพทย์และความยินยอมของผู้ป่วย

ในกรณีที่โรคมะเร็งปอดลุกลามมาก มีการกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ หรือตัวผู้ป่วยเองมีสภาพร่างกายทั่วไปไม่แข็งแรง มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงจากการรักษาได้ง่าย แนวทางการรักษาจะเน้นให้พิจารณาเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นหลัก การรักษาจะเป็นการรักษาที่ขึ้นกับสภาวะของโรค อาการ และความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัว หรือเรียกว่าการดูแลเพื่อบรรเทาอาการ (Palliative care)

การรักษาโรคมะเร็งปอดควรเป็นการดูแลผู้ป่วยร่วมกันเป็นทีม ระหว่างทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์สาขาต่าง ๆ เพื่อการพิจารณาแนวทางการรักษาให้รอบด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัวเป็นสำคัญ

 

หากอยากห่างไกลจากโรคมะเร็งปอด อย่าลืมหมั่นสังเกตความผิดปกติและตรวจเช็กร่างกายอยู่เสมอ ที่สำคัญควรงดสูบบุหรี่ เพราะเป็นตัวการสำคัญของโรคมะเร็งปอด แต่หากตรวจวินิจฉัยแล้วพบว่าเป็นมะเร็งปอด ควรรีบเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องกับแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อลดโอกาสในการเสียชีวิตและกลับมาใช้ชีวิตได้ดังเดิม

 

ข้อมูล :

นพ. ชนวัธน์ เทศะวิบุล แพทย์รังสีรักษา โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ

สอบถามเพิ่มเติม

โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ
โทร 1719

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ด้านโรคมะเร็ง