ผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบสงวนเต้า

ผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบสงวนเต้า


มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้หญิงเป็นอันดับ 1 ในประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับในประเทศไทยเป็นอันดับที่ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก แต่ปัจจุบันจากสถิติพบว่าปีหนึ่ง ๆ มีหญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมถึง 5,000 – 7,000 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

 

โรคมะเร็งเต้านม

โรคมะเร็งเต้านมเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อเต้านมและร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตที่ผิดปกตินั้นได้ ทำให้เซลล์ที่ผิดปกติเหล่านั้นโตออกไปเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็วและกระจายออกไปยังอวัยวะอื่น ๆ โดยเพศหญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม นับเป็นโรคใกล้ตัวที่ควรหมั่นดูแลและสำรวจตัวเอง เพราะสาเหตุการเกิดมะเร็งเต้านมไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าเกิดจากอะไร

 

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านม

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเกิดมะเร็งเต้านม คือ

  1. พันธุกรรม
  2. ประจำเดือนมาก่อนอายุ 11 ปี
  3. ประจำเดือนหมดหลังอายุ 50 ปี
  4. ผู้ที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรคนแรกเมื่ออายุ 30 ปี
  5. ปัจจัยภายนอกที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านม ได้แก่ สูบบุหรี่ ดื่มสุรา เครียด และการรับยาฮอร์โมนในภาวะมีบุตรยาก

 

ระยะมะเร็งเต้านม

ระยะของมะเร็งเต้านมแบ่งออกเป็น

  • ระยะ 0 ระยะเริ่มต้นของเซลล์มะเร็งที่ยังไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อของเต้านม หากตรวจพบตั้งแต่ระยะนี้มีอัตรารอดถึงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์
  • ระยะ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตรและยังไม่ลุกลามถึงต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดระหว่าง 2 – 5 เซนติเมตร ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น
  • ระยะ 3 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร ลุกลามเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น
  • ระยะ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น

 

ตรวจค้นหามะเร็งเต้านม

ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมเกินกว่าร้อยละ 85 มักจะมาพบแพทย์ด้วยเรื่องปัญหาคลำพบก้อนที่เต้านม ซึ่งอาจจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กแตกต่างกัน แต่นั่นไม่ใช่อาการเริ่มต้น ในประเทศที่มีการตรวจเพื่อค้นหามะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) ในผู้หญิงทุกคน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ใด ๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นข้อดีที่ชัดเจนของการตรวจแมมโมแกรม เพราะสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก นั่นคือ ระยะที่ไม่มีอาการ จะทำให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายขาดสูง

 

รักษามะเร็งเต้านม

การรักษาในสมัยก่อนหากตรวจพบจะต้องตัดเต้านมทิ้ง แต่ปัจจุบันมีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเบื้องต้นด้วยเครื่องดิจิทัลแมมโมแกรม ทำให้พบมะเร็งตั้งแต่แรกเริ่ม ช่วยให้การรักษาแบบผ่าตัดไม่ต้องเอาออกทั้งเต้าหรือเรียกว่าผ่าตัดสงวนเต้าได้ โดยตัดบางส่วนที่เป็นเซลล์มะเร็งออก ทำให้รูปทรงยังคงคล้ายของเดิมและจะเก็บเต้านมไว้ให้มากที่สุดเพื่อไม่ให้สูญเสียรูปทรง หากเต้านมที่เหลือผิดรูปร่างมากก็สามารถเสริมเต้าได้ด้วยแผ่นผิวหนังและไขมันของผู้ป่วยเอง ซึ่งการผ่าตัดแบบสงวนเต้านี้จำเป็นต้องมีการฉายแสงด้วยประมาณ 20 – 25 ครั้งขึ้นอยู่กับระยะของโรคซึ่งจะรักษาได้ผลดี

สำหรับคนที่เป็นมะเร็งระยะมากแล้วต้องตัดเต้านมทิ้งทั้งหมด ทางโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถมีวิธีผ่าตัดคืนเต้า คือ เมื่อเป็นมะเร็งเต้านมแล้วต้องตัดเต้านมทิ้งทั้งหมด ทางแพทย์จะทำการสร้างเต้านมใหม่ โดยนำผิวหนัง ไขมัน และกล้ามเนื้อมาสร้างเป็นเต้าของคนไข้ ซึ่งคนไข้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นใจ มีความสุข เป็นผลดีทั้งสุขภาพกายและจิตใจด้วย

ทั้งนี้การผ่าตัดที่เน้นสงวนเต้านั้นมีข้อจำกัด คือ ต้องเป็นความพึงพอใจของคนไข้ที่อยากทำและดูว่ามีมะเร็งก้อนเดียวหรือไม่ รวมทั้งถ้าไม่สามารถหาขอบเขตได้ หรือไม่ชัดเจนก็ไม่สามารถผ่าตัดได้ ส่วนการให้ฮอร์โมนและเคมีบำบัดในคนไข้แต่ละราย แพทย์จะพิจารณาว่าคนไข้คนใดเหมาะกับการรักษาด้วยวิธีใด

 

ตรวจเช็กเต้านม

อย่างไรก็ตามการตรวจเต้านมด้วยตนเองมีความสำคัญสำหรับผู้หญิงทุกคน ผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปควรฝึกหัดคลำเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน เวลาที่เหมาะสมในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง คือ 7 วันหลังมีประจำเดือน เต้านมจะไม่ค่อยตึงและคลำจะไม่ค่อยเจ็บ สามารถทำได้โดย ถ้าต้องการตรวจด้านขวาให้นอนหงายเอาหมอนหนุนใต้ไหล่ขวา ใช้นิ้วชี้ กลาง และนางของมือซ้ายกดลงไปบริเวณเต้านมให้ทั่ว อาจใช้คลำเป็นวงกลมรอบ ๆ หัวนมออกไปกว้างขึ้นเรื่อย ๆ หรือคลำเป็นแนวตั้งและแนวนอนจากซ้ายไปขวาหรือจากขวาไปซ้ายทั่วเต้านมให้เป็นระเบียบแบบแผนสม่ำเสมอเพื่อจะได้ไม่หลงบางตำแหน่งที่นึกว่าคลำแล้ว ถ้าต้องการตรวจเต้านมซ้ายก็ทำเช่นเดียวกัน ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่สามารถสังเกตได้โดยการส่องกระจก เช่น ขนาดที่เปลี่ยนแปลง ผิวหนังบริเวณเต้านมที่เปลี่ยนแปลง บุ๋มหรือหดรั้ง มีของเหลวผิดปกติไหลออกจากหัวนม ผิวหนังเปลี่ยนสี

 

มะเร็งทุกชนิดเมื่อรักษาหายแล้วก็มีโอกาสกลับมาเป็นอีกได้ จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะของโรค ถึงแม้ว่ามะเร็งเต้านมจะยังป้องกันไม่ได้ แต่สามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นนอกจากตรวจด้วยวิธีคลำด้วยตนเองแล้ว ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเช็กทุก 3 – 5 ปี สำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไปควรทำแมมโมแกรมและอัลตราซาวนด์ทุกปี นอกจากนี้หากคนในครอบครัวเป็นมะเร็งอาจต้องตรวจเร็วขึ้นตั้งแต่อายุ 35 ปี หรือผู้ที่เคยเป็นและรักษาหายแล้วควรพบแพทย์ทุก 6 เดือน หากดูแลตัวเองได้ดีย่อมสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ทำให้ไม่ต้องสูญเสียเต้านมทั้งหมด

ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคมะเร็ง